Wednesday, December 22, 2010

BANPU หุ้นในดวงใจ ซึ่งมีพฤติกรรมเด้งเชือกที่ SMA25W

ผมหวนระลึกถึงหุ้น BANPU ที่เมื่อประมาณ 10 ปีก่อนผมเคยซื้อไว้จำนวนหนึ่งที่ราคาประมาณ 20 บาท ถืออยู่เป็นปี ราคาไม่ไปไหนเลยจึงขายออกไปและไม่ได้สนใจอีกเลย มาพบอีกทีราคาหลายร้อยบาทแล้ว ตอนนั้นจะซื้อหรือขายหุ้นตัวไหนไม่มีหลักการหรือความรู้หนุนหลังแต่อย่างใดทั้งสิ้น จากการที่คุณวิชัย วชิรพงศ์ ได้กรุณาแนะนำว่า ให้ลงทุนกับ "หุ้นในดวงใจ" โดยมองหาหุ้นที่ราคาเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณซื้อขายลดลง ซึ่งแสดงว่ามีคนต้องการหุ้นมาก ซื้อเก็บไว้แล้วไม่ปล่อยออกมาหมุนเวียนในตลาด ในปัจจุบันผมมาสังเกตกราฟราคารายสัปดาห์ของ BANPU แล้วเห็นว่าเข้าข่ายหุ้นในดวงใจ เลยนำมาตั้งเป็นข้อสังเกตในโพสต์นี้ครับ ผมคิดว่านักลงทุนทุกคนย่อมทราบดีว่า BANPU เป็นหุ้นถ่านหินอันดับหนึ่งของไทยซึ่งน่าลงทุนมาก แต่ติดอยู่ที่ราคาระดับ 800 บาท ซึ่งคนส่วนมากคิดว่าแพงมาก แต่ถ้าหารด้วย 30 จะเห็นว่าราคานี้คิดเป็นดอลลาร์ก็เพียงแค่ 26 USD เท่านั้น ในสายตาฝรั่งไม่แพงเลย (ราคาหุ้น Google ตอนนี้อยู่ที่ 600 USD)

(คลิกภาพเพื่อขยาย)

จากกราฟจะสามารถแบ่งความเป็นไปของราคาหุ้น BANPU ได้เป็นสองช่วงคือ ก่อนและหลังวิกฤติซับไพรม์ (ประมาณกลางปี 2008) ในช่วงแรก BANPU มีพฤติกรรมเหมือนหุ้นขาขึ้นทั่ว ๆ ไป คือราคาเพิ่มขึ้นพร้อมกันกับปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น ในช่วงนี้จะเห็นว่าสัญญาณ RSI จะอยู่เหนือระดับ 50% โดยตลอด (กรอบสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินอันแรก) ระหว่างการไต่ขึ้นของราคาพบว่ามีการพักฐานเป็นระยะ โดยการพักฐานจะสิ้นสุดลงเมื่อราคาหุ้นลงมาแตะเส้นค่าเฉลี่ย 25 สัปดาห์ (SMA25W) หลังเกิดวิกฤตซับไพรม์ ราคาหุ้นดิ่งลงไปทำจุดต่ำสุดที่ราคาประมาณ 120 บาทเมื่อประมาณเดือนกันยายน 2008 ที่จุดนี้ RSI มีค่าต่ำกว่า 30% ซึ่งแสดงว่าได้มีการขายหุ้นออกมากเกินไปแล้วอย่างมาก สังเกตได้จากปริมาณการซื้อขายที่สูงมาก ในช่วงเดียวกันนี้ สัญญาณ MACD ซึ่งติดลบอย่างมากได้ตัดกันแบบขาขึ้นแสดงถึงจุดเริ่มต้นของการฟื้นตัวรอบใหม่ ต่อมาเมื่อต้นปี 2009 ราคาของ BANPU ได้ตัดผ่าน SMA25W และ SMA50W ตามลำดับ ประมาณเดือนพฤษภาคม 2009 SMA25W ก็ได้ตัดกับ SMA50W แบบขาขึ้น เป็นจุดมั่นใจซึ่งยืนยันขาขึ้นระยะยาวของ BANPU จากจุดนั้นเป็นต้นมาราคาหุ้นได้ไต่ระดับขึ้นมาเรื่อย ๆ สลับกับการพักฐานด้วยการเด้งเชือกที่เส้นค่าเฉลี่ย 25 สัปดาห์ ทั้งหมด 5 ครั้ง ในระหว่างการไต่ระดับของราคาในรอบนี้จะสังเกตได้ว่าปริมาณการซื้อขายของ BANPU มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ แสดงว่าคนที่ซื้อหุ้น BANPU ได้แล้วจะกอดหุ้นเอาไว้ไม่ขายออก จนปริมาณหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดมีน้อยลงเรื่อย ๆ พร้อมกันกับราคาที่เพิ่มขึ้น ลักษณะแบบนี้คุณวิัชัย วชิรพงศ์บอกว่าราคาหุ้นจะยังเพิ่มขึ้นไปได้อีกมาก เมื่อดูสัญญาณ RSI พบว่าช่วงหลังวิกฤตซับไพรม์จะมีระดับเหนือ 50% มาโดยตลอด จากพฤติกรรมการเด้งเชือกที่ผ่านมา ท่านที่กำลังมองหาหุ้นชั้นเยี่ยมไว้ลงทุนระยะยาวจะมีจังหวะการเข้าซื้อ BANPU แบบเสี่ยงน้อยที่จุดเด้งเชือก SMA25W ถัดไป ที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงราคาระหว่าง 700 - 900 บาท จับตาให้ดีครับ

===========================================================

ติดตาม "ลงทุนหุ้นไทย" ที่ facebook.com/thstockinvest twitter.com/thstockinvest

เรียนรู้การดูกราฟหุ้นทางเทคนิคได้ที่ Free Stock Technical Analysis Tutorial

หาเพื่อนนักลงทุนในกลุ่มสนทนา  ชำแหละพื้นฐานหุ้น

พฤติกรรมการเด้งเชือกของ TCAP ที่เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 25 สัปดาห์

ในช่วงขาขึ้นยาวนานของราคาหุ้น เรามักสังเกตเห็นได้ว่า การปรับฐานย่อย ๆ ของหุ้นจะมีจุดสิ้นสุดที่เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เส้นใดเส้นหนึ่ง และมักเกิดขึ้นซ้ำกันหลายครั้ง ผมขอเรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า "การเด้งเชือก (bouncing)" สำหรับในโพสต์นี้ผมขอตั้งข้อสังเกตพฤติกรรมการเด้งเชือกของหุ้น TCAP ตามกราฟราคาหุ้นรายสัปดาห์ด้านล่างครับ
(คลิกภาพเพื่อขยาย)



ในช่วงปี 2005 - 2008 ราคาหุ้น TCAP แทบจะอยู่คงที่แถว ๆ 15 บาท จนเมื่อเกิดวิกฤติซับไพรม์จึงได้ทรุดลงถึงจุดต่ำสุดประมาณ 4 บาทเมื่อเดือนกันยายน 2008 อีกสองเดือนต่อมาเกิดการตัดกันของสัญญาณ MACD (บริเวณวงกลม) ในขณะที่ RSI ประมาณ 30% ตรงนี้เป็นจุดเริ่มของการฟื้นตัว แนวโน้มขาขึ้นนี้ได้รับการยืนยันด้วยการที่ราคาหุ้นตัดผ่านเส้น SMA25W (ค่าเฉลี่ย 25 สัปดาห์) ในเดือนมกราคม 2009 และตัดผ่าน SMA50W (ค่าเฉลี่ย 50 สัปดาห์) ในเดือนมีนาคม 2009 ตามด้วย การตัดกันแบบขาขึ้นของ SMA25W และ SMA50W ในเดือนพฤษภาคม 2009 และ ณ จุดนี้เองเป็นจุดมั่นใจที่ยืนยันแนวโน้มขาขึ้นระยะยาวของ TCAP หลังการปรับฐานใหญ่ที่เพิ่งผ่านพ้นไป นับแต่นั้นเป็นต้นมาราคาหุ้นของ TCAP ได้ไต่ระดับขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยสามารถรักษาระดับราคาให้ยืนอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย SMA25W ได้โดยตลอด จากกราฟพบว่า ในช่วงการไต่ระดับนี้ TCAP มีพฤติกรรมสิ้นสุดการปรับฐานย่อย ๆ เมื่อราคาหุ้นลดลงมาชน หรือเด้งเชือกที่เส้น SMA25W จากนั้นจะไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ การปรับฐานครั้งล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากที่ TCAP ไต่ขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ที่ระดับราคาประมาณ 40 บาท ในปัจจุบัน (17 ธันวาคม 2010) ราคาของ TCAP ได้ลดลงมาแตะที่เส้น SMA25W อีกครั้ง ในครั้งนี้ยังไม่แน่ว่าการเด้งเชือกจะเกิดขึ้นที่เส้น SMA25W หรือจะหลุดไปเด้งที่เส้น SMA50W แต่เมื่อพิจารณาปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลดีจากความสำเร็จในการควบรวมกิจการกับ SCIB ดอกเบี้ยขาขึ้น แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งขึ้น ระดับของ RSI ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 50% และปริมาณการซื้อขายที่ระดับต่ำ ผมคิดว่าการเด้งเชือกน่าจะเกิดที่ SMA25W เหมือนที่ผ่านมาสองครั้งก่อน มากกว่าที่จะหลุดลงไปเด้งที่ SMA50W นักลงทุนที่สนใจหุ้นธนาคารจับตาให้ดีครับ


===========================================================

ติดตาม "ลงทุนหุ้นไทย" ที่ facebook.com/thstockinvest twitter.com/thstockinvest

เรียนรู้การดูกราฟหุ้นทางเทคนิคได้ที่ Free Stock Technical Analysis Tutorial

หาเพื่อนนักลงทุนในกลุ่มสนทนา  ชำแหละพื้นฐานหุ้น