Tuesday, March 29, 2011

ทำไม PTL ถึงพุ่งพรวดพราดขึ้นไปกว่า 9 เท่าตัว และเราจะรู้ได้ยังไงว่ามันจะขึ้น ?

          ในโพสต์ก่อน ๆ ผมได้บ่นเอาไว้ว่า ผมตกรถไฟขบวน PTL  (คลิกที่นี่เพื่อย้อนไปอ่าน) คือกว่าจะเห็นหุ้นตัวนี้ ราคาหุ้นก็พุ่งขึ้นไปแล้ว 900% ทำให้ได้แต่นั่งมองแล้วคิดว่าอะไรหนอทำให้หุ้นวิ่งขนาดนี้ และเราจะหาหุ้นแบบนี้เจอก่อนมันวิ่ง หรือก่อนที่มันจะขึ้นมาก ๆ ได้อย่างไร จากนั้นจึงลองใช้เครื่องมือทางเทคนิคตรวจดู พบว่า จุดเริ่มต้นของการวิ่งขึ้นของราคา PTL คือจุดที่ กราฟฮิสโตแกรม MACD รายเดือน ตัดแกนศูนย์จากด้านลบขึ้นไปด้านบวก แต่การเชื่อ จุดตัดดังกล่าว ในกราฟ MACD เพียงอย่างเดียวก็ไม่มีอะไรรับรองว่าจะเป็นไปตามนั้นเสมอไป ทางที่ดีควรมีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนด้วย ในโพสต์นั้นผมได้ติดท่านผู้อ่านเอาไว้ว่าจะนำพื้นฐานของ PTL มาตีแผ่ให้ดูในโพสต์หลัง ๆ
          ผมใช้เวลากว่า 4 เดือนในการศึกษาและลองแกะข้อมูลพื้นฐานโดยตรงจากงบการเงินรายไตรมาสของบริษัทจดทะเบียน โดยไม่ผ่านความเห็นหรือบทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากกลัวว่าจะมีข้อผิดพลาดจากความสะเพร่าของโบรกเกอร์แฝงมาด้วย จึงต้องสกัดข้อมูลจากแหล่งต้นกำเนิดคือ งบการเงิน ด้วยตัวเองทั้งหมด จากนั้นนำมาประมวลเป็นข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ พบว่า ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานที่ควรให้ความสนใจได้แก่ กำไรสุทธิต่อหุ้น (earning per share: EPS) การเติบโตของกำไรต่อหุ้นเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY EPS growth) รายได้สุทธิต่อหุ้น (revenue per share) การเติบโตของรายได้ของกิจการ (YOY revenue growth) กำไรของผู้ถือหุ้น (owner's earning) และการประหยัดจากขนาด (economy of scale) ซึ่งแต่ละปัจจัยมีความหมาย และการหาค่าดังจะได้กล่าวต่อไป
          การมองหาหุ้นด้วยปัจจัยพื้นฐานดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากหลักการ CANSLIM ของวิลเลียม โอนีล ซึ่งท่านผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความของคุณวิบูลย์ พึงประเสริฐ (ที่นี่) หรือจากเว็บของต้นตำรับ (ที่นี่) ผมลองใช้วิธีการดังกล่าวกับหุ้นที่เด่น ๆ และเชื่อถือได้เช่น หุ้น Google (GOOG) จนมั่นใจว่าวิธีการที่ใช้ถูกต้อง จึงเริ่มนำมาลองกับหุ้นไทยพบว่าใช้ได้ดีเช่นเดียวกัน ก่อนเข้าสู่ข้อมูลพื้นฐานของ PTL ผมขออธิบายวิธีการหาปัจจัยพื้นฐานจากงบการเงินด้วยตัวเองก่อนดังนี้
          เริ่มจากการทำความเข้าใจก่อนว่า งบการเงินของบริษัทมหาชนมีสองแบบคือ แบบแรกเป็นงบเฉพาะของบริษัท (separate financial statements) และแบบที่สองคือ งบการเงินรวม (consolidated financial statements) ซึ่งรวมตัวเลขของบริษัทเองและของบริษัทย่อยทั้งหมด งบการเงินที่เราจะนำมาพิจารณาคืองบการเงินรวม ข้อมูลดังกล่าวบริษัทมหาชนจะต้องนำส่งให้ กลต.ทุกไตรมาส ประกอบด้วยสามส่วนคือ รายงานของผู้สอบบัญชี ตัวงบการเงิน และหมายเหตุประกอบงบการเงิน ทั้งสามส่วนมักจะถูก zip เอาไว้ด้วยกันเป็นไฟล์เดียว ข้อมูลที่ออกมาของแต่ละบริษัท และแต่ละไตรมาสอาจแตกต่างกันไปเล็กน้อย โดยมากข้อมูลของงบไตรมาสที่ 1 จะเป็นตัวเลขระยะเวลา 3 เดือนแรกของปีนั้น ข้อมูลของงบไตรมาสที่ 2 เป็นตัวเลข 6 เดือน ข้อมูลของงบไตรมาสที่ 3 เป็นตัวเลข 9 เดือน และสุดท้ายเป็นข้อมูลรวมทั้งปี ดังนั้นการแจกแจงตัวเลขจากงบการเงินเป็นรายไตรมาสจึงควรเริ่มทำที่ไตรมาสแรกก่อน แล้วเอาข้อมูลไตรมาสแรกไปลบออกจากไตรมาสสองจะได้ข้อมูลเฉพาะของไตรมาสสอง ทำซ้ำแบบนี้กับไตรมาสถัด ไปจนครบ ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องแจกแจงเป็นรายไตรมาส แทนที่จะเป็นรายปี คำตอบคือ สำหรับหุ้นบางตัวนั้น ถ้าดูรายปีจะตามไม่ทันเพราะกว่าจะพบว่าหุ้นจะขึ้นมาก ก็สายไปแล้ว อย่างกรณี PTL รอบที่ผ่านมาจะเห็นว่าหุ้นวิ่งขึ้นไป 900% ในระยะเวลาเพียง 3 ไตรมาส ดังนั้นจึงต้องดูปัจจัยพื้นฐานรายไตรมาส และต้องคาดการณ์ล่วงหน้าไปดูในไตรมาสต่อ ๆ ไปอีกด้วย กระบวนการทั้งหมดค่อนข้างเป็นงานละเอียดและใช้เวลามาก แต่ก็คุ้มค่าที่จะลงมือทำ (บริษัทของวิลเลียม โอนีลเขาขายข้อมูลอย่างที่ผมทำด้วยตัวเองนี้ให้กับลูกค้านักลงทุนรายใหญ่และนักลงทุนสถาบันเป็นรายได้หลักครับ) ต่อไปเป็นการหาค่าของปัจจัยพื้นฐาน และแหล่งข้อมูลดังนี้
  • EPS หาได้จากการนำ กำไรสุทธิ (net income) หารด้วยจำนวนหุ้น โดยเอากำไรสุทธิมาจาก งบกำไร-ขาดทุน (income statements) และเอาจำนวนหุ้นมาจาก งบดุล (balance sheet)
  • การเติบโตของ EPS หาได้จากการเปรียบเทียบ EPS ของไตรมาสที่กำลังคำนวณ กับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (100 x ไตรมาส ที่คำนวณ / ไตรมาสปีก่อนหน้า) ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงกี่เปอร์เซนต์
  • รายได้สุทธิต่อหุ้น หาได้จาก รายได้สุทธิ (total revenue) หารด้วยจำนวนหุ้น โดยเอารายได้สุทธิมาจาก งบกำไร-ขาดทุน (income statements)
  • การเติบโตของ รายได้สุทธิต่อหุ้น หาได้จากการเปรียบเทียบ รายได้สุทธิต่อหุ้น ของไตรมาสที่กำลังคำนวณ กับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (100 x ไตรมาส ที่คำนวณ / ไตรมาสปีก่อนหน้า) ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงกี่เปอร์เซนต์
  • กำไรของผู้ถือหุ้น (owner's earning) เป็นเงินสุทธิที่ไหลเข้าบริษัทในรอบระยะเวลานั้นซึ่งหักค่าใช้จ่ายลงทุนของกิจการออกไปแล้ว เปรียบเสมือนมูลค่ากำไรที่ตกทอดมายังเจ้าของกิจการ (ผู้ถือหุ้น) จริง ๆ กำไรแบบนี้จะใช้ดูสถานะของกิจการได้ดีกว่า กำไรสุืทธิต่อหุ้น (EPS) เพราะตกแต่งบัญชีหลอกตาได้ยากมาก กำไรของผู้ถือหุ้น อาจเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า กระแสเงินสดอิสระ (free cash flow) หาได้จากการนำกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (operating cash flow) หักออกด้วยค่าใช้จ่ายลงทุนใน ที่ดิน เครื่องจักร และอุปกรณ์ (capital expenditures) ที่จำเป็นต้องใช้ในการรักษาสถานะของกิจการ

    สำหรับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหาได้จากงบกระแสเงินสด (cash flow statements) ในส่วน กระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน (cash flow from operating activities) ที่ระบุว่า เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน (net cash from operating activities)

    ส่วนค่าใช้จ่ายลงทุนหาได้จากงบกระแสเงินสด (cash flow statements) ในส่วน กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน (cash flow from investing activities) ที่ระบุว่า เป็นค่าซื้อ ที่ดิน เครื่องจักร และอุปกรณ์ (purchase of property, plant and equipment) หากมีการขาย ที่ดิน เครื่องจักร และอุปกรณ์ด้วย (proceeds from sales of property, plant and equipment) ก็เอาค่าซื้อหักด้วยค่าขาย

    โดยสรุป owner's earning  = free cash flow = operating cash flow - (property, plant and equipment)
  • การประหยัดจากขนาด (economy of scales) หมายถึงความสามารถในการเพิ่มกำไรของผู้ถือหุ้นขึ้นไป โดยมีค่าใช้จ่ายลงทุนเท่าเดิม ในที่นี้จะตอบคำถามว่า ค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไปใน ที่ดิน เครื่องจักร และอุปกรณ์นั้น ก่อให้เกิดกำไรของผู้ถือหุ้นมากน้อยเพียงใด กิจการที่มีการประหยัดจากขนาด จะมีค่าใช้จ่ายลงทุนในที่ดิน เครื่องจักร และอุปกรณ์น้อย แต่สร้างกำไรของผู้ถือหุ้นมาก เราอาจจะดัดแปลงคำถามดังกล่าวแล้วถามใหม่ว่า การสร้างกำไรให้ผู้ถือหุ้นของกิจการต้องมีค่าใช้จ่ายลงทุนในที่ดิน เครื่องจักร และอุปกรณ์กี่เปอร์เซนต์ของกำไรนั้น ค่าที่หาได้ยิ่งมีค่าน้อย ยิ่งแสดงว่ากิจการมีการประหยัดจากขนาดมาก การคำนวณทำได้จาก 100 x ค่าใช้จ่ายลงทุน / กำไรของผู้ถือหุ้น
        
เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของ PTL ตามวิธีการดังกล่าวมาจะได้ตัวเลขออกมาดังตารางต่อไปนี้












จากตารางจะเห็นว่าผมมีข้อมูลรายไตรมาสย้อนกลับไปถึง ไตรมาส 2008Q1 เท่านั้น เก่ากว่านั้นมีแต่ข้อมูลรายปี และโดยมากในช่วงที่มีเฉพาะข้อมูลรายปี บริษัทจะยังไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จึงไม่ต้องทำงบการเงินทุกไตรมาส (PTL เริ่มไตรมาส 1 ในเดือนเมษายนตามบริษัทแม่ในอินเดีย) ในช่วงแรกบริษัทมีกำไรสุทธิต่อหุ้นค่อนข้างสูง ต่อมากำไรเริ่มลดลงเรื่อย ๆ จนเริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้งใน 2009Q3 และเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน สำหรับรายได้ก็มีแนวโน้มเดียวกันกับกำไรสุทธิต่อหุ้น เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตของกำไรและรายได้เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าพบว่า กำไรของไตรมาส 2009Q4 เพิ่มขึ้นถึง 50.99% ในขณะที่ รายได้เพิ่มขึ้น 12.22% จุดนี้แสดงการเริ่มฟื้นตัวของกิจการ สามเดือนต่อมาในไตรมาส 2010Q1 กำไรเพิ่มขึ้น 80.09% ในขณะที่รายได้เพิ่มขึ้น 17.78% เป็นการยืนยันการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งอย่างชัดเจน ดังนั้นถ้าใครดูข้อมูลตรงนี้พบกำไรโตขึ้นอย่างมากต่อกัน 2 ไตรมาสแบบนี้ต้องหาสาเหตุแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งถ้าย้อนไปตอนนั้นจะพบว่าฟิล์ม PET ที่เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทเกิดขาดแคลนอย่างหนักและมีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กราฟต่อไปนี้แสดงการเติบโตของกำไรและรายได้ของ PTL






































ผมนำเอาการเติบโตของกำไรสุทธิรายไตรมาสที่คำนวณได้ไปเติมลงในกราฟราคาหุ้นของ PTLได้ผลดังภาพต่อไปนี้



จากกราฟราคาหุ้นจะเห็นได้ว่าราคาหุ้นเริ่มวิ่งแรงหลังจากผลประกอบการไตรมาส 2010Q1 ออกมามีกำไรเติบโตถึง 80.09% โดยที่ไตรมาส 2009Q4 โตมาก่อนแล้ว 50.99% ราคาหุ้นวิ่งแรงต่อเนื่องไปอีกเพราะกำไรไตรมาส 2010Q2 ยังโตขึ้นไปอีก 278.02% และในไตรมาสล่าสุดกำไรเติบโตถึง 463.00% ถึงตอนนี้ราคาหุ้น PTL น่ากลัวอย่างมาก เพราะขึ้นมาแบบรวดเดียวไม่มีพักเลย หลายคนพอใจกำไรที่ได้จึงกระโดดออกตามรายทางที่หุ้นขึ้นมาร่ำรวยกันไป หลายคนเพิ่งสังเกตเห็นหุ้นตัวนี้จึงกระโดดเข้ามา ทำให้ติดดอยกันมหาศาล ตัวผมเองได้แต่มองครับ ไม่กล้าเข้า ในช่วงสัปดาห์กลางเดือนพฤศจิกายน 2010 ราคาหุ้นได้ทำจุดสูงสุด พร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นเกินสองเท่าตัวของสองสามสัปดาห์ก่อนหน้า เหตุการณ์แบบนี้ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของคุณวิชัย  วชิรพงศ์ที่ว่า
  • ในจังหวะที่หุ้นเป็นขาขึ้น เราต้อง let the profit run ปล่อยให้กำไรวิ่งเต็มสตีม เมื่อไรที่ราคาเริ่มปรับฐานลงมา พร้อมวอลุ่ม เราต้องรีบล้างพอร์ตออกไป
  • ท่องเอาไว้เลย "วอลุ่มพีค" คือ "ราคาพีค" และ ถ้าหุ้นปรับฐานแล้ว "รีบาวด์" แต่ไม่ทำ "นิวไฮ" ใหม่..."มันต้องลง
เป็นจริงอย่างเขาว่าไว้หรือเปล่าท่านคงดูได้เองจากกราฟข้างบนครับ (คลิก ที่นี่ เพื่อดูข้อคิดอื่น ๆ จากวิชัย  วชิรพงศ์)

          มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านอาจจะยังมีคำถามต่อไปว่า แล้วราคาหุ้นที่ตกลงมามาก ๆ นี้จะขึ้นไปได้อีกหรือเปล่า ? ตามความเห็นของผม PTL มีโอกาสขึ้นไปได้อีก แต่จะให้พรวดพราดแบบที่ผ่านมาคงยากครับ ทำไมผมจึงว่ามีโอกาสขึ้นไปได้อีก? เรามาลองดูข้อมูลพื้นฐานต่อไปอีกสักหน่อยครับ เมื่อดูว่ากิจการมีกำไรตกทอดไปยังผู้ถือหุ้นจริง ๆ เท่าไร พบว่ากำไรของผู้ถือหุ้นขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่คงที่ โดยมีค่าเป็นบวกมาตลอดนับจาก 2008Q1 ดังกราฟนี้




แต่จากตารางข้างบน กำไรของผู้ถือหุ้นในช่วงปี 2004-2007 มีค่าติดลบค่อนข้างมาก ดังนั้นต้องดูกำไรของผู้ถือหุ้นสะสมย้อนไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะมากได้ (ในกรณีหุ้นต่างประเทศเช่นหุ้น ไมโครซอฟท์ สามารถย้อนไปได้กว่า 20 ปี ทำให้สามารถประเมินมูลค่าหุ้นได้แม่นยำมาก) เมื่อคิดเป็นกำไรของผู้ถือหุ้นสะสมจะได้กราฟดังนี้





















จากกราฟจะเห็นว่ากำไรสะสมของกิจการที่ตกทอดถึงผู้ถือหุ้นจริง ๆ นั้นติดลบมาตลอด แต่ค่อยๆไต่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ในแนวโน้มแบบเส้นตรงโดยกลับค่าเป็นบวก (เริ่มมีกำไรสะสมตกทอดถึงผู้ถือหุ้นจริง ๆ) ระหว่าง ไตรมาส 2010Q1 ต่อกับ 2010Q2 ตามแนวโน้มนี้ กำไรของผู้ถือหุ้นสะสมของ PTL ยังจะขึ้นไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งจะทำให้ราคาของ PTL เริ่มฟื้นตัวขึ้นไปใหม่แบบค่อยเป็นค่อยไปอีกครั้ง แล้วทำไมผมจึงคิดว่าราคาจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่พรวดพราดอย่างเคย? มาพิจารณาการประหยัดจากขนาดของ PTL กันครับ  เมื่อดูค่าใช้จ่ายลงทุนที่ใช้ไปในการสร้างกำไรของผู้ถือหุ้นพบว่า บริษัทมีการลงทุนที่ดิน เครื่องจักร และอุปกรณ์หนัก ๆ เป็นช่วง ๆ ดังแสดงในกราฟต่อไปนี้




















จากกราฟนี้จะเห็นว่า ในไตรมาส 2008Q1 บริษัทมีค่าใช้จ่ายลงทุนมากถึง 5 เท่าของกำไรของผู้ถือหุ้นที่ผลิตได้ จากนั้นจึงลดลงมา ในปีถัดมาค่าใช้จ่ายลงทุนคิดเป็นเกือบ 2 เท่าของกำไรของผู้ถือหุ้น จากนั้นจึงลดลงมา และล่าสุดในไตรมาส 2010Q3 บริษัทมีค่าใช้จ่ายลงทุนมากกว่า 6 เท่าของกำไรของผู้ถือหุ้น ผมสอบถามไปยังผู้จัดการฝ่ายบัญชีของบริษัทว่ามีการลงทุนทำอะไร ได้คำตอบว่าเป็นการลงทุนใน "new silicone-coating project" ซึ่งเป็นคนละโครงการกับที่บริษัทเพิ่งออกข่าวไปใหม่คือโครงการ "new thick-film line project" โดยจะลงบัญชีในไตรมาส 2010Q4 สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2011 และจะทำให้การประหยัดจากขนาดแย่ลงไปอีก จากข้อมูลล่างสุดของตารางข้างบนจะเห็นว่า ภาพรวมกำไรต่อหุ้นของกิจการคิดเป็นประมาณ 18% ของรายได้ ในกำไรต่อหุ้นนี้ ตกทอดไปถึงผู้ถือหุ้นจริง ๆ เพียง 0.59% ของรายได้ และบริษัทมีค่าใช้จ่ายลงทุนในที่ดิน เครื่องจักร และอุปกรณ์สูงถึง 26 เท่าของกำไรของผู้ถือหุ้น ถือได้ว่าการประหยัดจากขนาดของ PTL ในภาพรวมยังค่อนข้างแย่

โดยส่วนตัวแล้ว ผมจะยังไม่เข้าไปซื้อหุ้น PTL จนกว่าการประหยัดจากขนาดจะลดต่ำลงกว่านี้มาก ๆ ก่อน ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าการพุ่งพรวดพราดของราคาหุ้น เกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2009Q4 ถึง 2010Q2 ซึ่งเป็นช่วงที่การประหยัดจากขนาดรายไตรมาสมีค่าต่ำกว่า 9% เท่านั้นเอง เทียบกับมากกว่า 600% ในไตรมาสล่าสุด

========================================================



ติดตาม "ลงทุนหุ้นไทย" ที่    facebook.com/thstockinvest    twitter.com/thstockinvest 

เรียนรู้การดูกราฟหุ้นทางเทคนิคได้ที่ Free Stock Technical Analysis Tutorial

หาเพื่อนนักลงทุนในกลุ่มสนทนา  ชำแหละพื้นฐานหุ้น