ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ผมได้ติดตามวิเคราะห์ความเป็นไปของหุ้น CK (บมจ. ช. การช่าง) เรื่อยมาตามแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจเกี่ยวกับหุ้นตัวนี้ ซึ่งผู้สนใจสามารถกลับไปอ่านได้ [ที่นี่] เท้าความโดยย่อได้ว่า หุ้น CK เป็นหุ้นที่มีประวัติและพฤติกรรมน่าศึกษา กล่าวคือ ในบางช่วง มีการฟื้นตัวตามสภาวะเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และบางช่วงก็ซึมลงได้อย่างยาวนาน ตามประวัติแล้ว CK ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประมาณ ปี 1995 ต่อมาไม่นานราคาหุ้นได้ดิ่งลงด้วยวิกฤตต้มยำกุ้ง กว่าจะเริ่มฟื้นตัวได้อีกครั้งต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปี ล่วงมาถึงปี 2003 เศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมารุ่งเรือง โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินที่บริษัทได้รับงานก่อสร้างและรับสัมปทานเดินรถเสร็จสิ้นลง ประกอบกับการชนะประมูลงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ทางด่วนลอยฟ้าบางนา-บางปะกง และถนนวงแหวนด้านใต้ บางพลี-สุขสวัสดิ์ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นเข้าซื้อหุ้น CK อย่างขนานใหญ่ จนราคาหุ้นของ CK เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าตัวในเวลาเพียง 5 เดือน ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ประมาณ 30 บาท เมื่อประมาณปลายปี 2003 (ราคาหลังการแตกพาร์ 10 บาท เหลือ 1 บาท) ระดับแรงต้านที่แข็งแรงมากซึ่งกดดันไม่ให้หุ้นขึ้นต่อไปได้อีกคือระดับ 20 บาทซึ่งเป็นราคาหุ้นของ CK เมื่อเริ่มเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง จากจุดนี้ไป หุ้น CK ได้ซึมลงยาวนานประมาณ 5 ปี จนราคาหุ้นไปทำจุดต่ำสุดที่ราคาประมาณ 2 บาทเมื่อปลายปี 2008 ผลจากวิกฤตซับไพรม์ทำให้ภาครัฐระดมก่อสร้างสาธารณูปโภคอย่างขนานใหญ่ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงที่เป็นใต้ดิน นอกจากนี้บริษัทยังได้งานก่อสร้างในต่างประเทศ เช่นการสร้างถนนในกัมพูชา และการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าหลายแห่งในลาว การฟื้นตัวในรอบนี้มีลักษณะที่น่าสังเกตคือ จะมีการเพิ่มระดับราคาคล้ายขั้นบันได โดยเพิ่มขึ้นประมาณขั้นละ 2 เท่าตัว จาก 2 บาท มาเป็น 5 บาท และมาเป็น 10 บาท ในที่สุด
การฟื้นตัวของราคาหุ้น CK นับจากกลางปี 2008 เป็นต้นมามีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป แต่รูปแบบการเพิ่มของราคาสามารถสังเกตเห็นได้เมื่อพิจารณากราฟราคาหุ้นรายสัปดาห์ดังรูปข้างล่าง ในช่วงครึ่งหลังของปี 2008 หุ้น CK ปรับฐานจาก 5 บาท ลงไปเหลือ 2 บาท แล้วปรับกลับขึ้นมาที่ 5 บาท ในเวลา 13 เดือน แล้วจึงพุ่งขึ้น 50% ไปทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 7.5 บาท ภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์ จุดที่เริ่มเกิดการพุ่งขึ้นทำราคาสูงสุดใหม่นี้เป็นระดับราคาของเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 100 สัปดาห์ หรือ SMA100W พอดี หลังจากทำจุดสูงสุดใหม่แล้ว ได้เกิดการพักฐานในรูปแบบเดิมด้วยตัวเลขคล้ายเดิมอีก โดยราคาหุ้นปรับฐานจาก 7.5 บาท กลับลงไปอยู่ที่ 5 บาท หรือ ลง 33% แล้วกลับขึ้นไปที่ 7.5 บาทในเวลาประมาณ 10 เดือน แล้วจึงพุ่งขึ้น 53% ไปทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 11.5 บาท ภายในเวลาเพียง 6 สัปดาห์ หลังจากทำจุดสูงสุดใหม่แล้ว ได้เกิดการพักฐานในรูปแบบเดิมด้วยตัวเลขคล้ายเดิมอีก แต่การพักฐานรอบปัจจุบันยังไม่เสร็จสิ้น กล่าวคือ ราคาหุ้น CK ปรับลงจาก 11.5 บาท ลงมา ที่ 7.5 บาท หรือลงมา 35% และเริ่มปรับขึ้นอีกครั้งแล้วในขณะนี้
(คลิกภาพเพื่อขยาย)
เมื่อพิจารณาปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ แล้ว ผมคิดว่าระดับราคา 7.5 บาทที่หุ้น CK ได้ไต่ลงไปแตะแล้วนั้นเป็นจุดต่ำสุดของการปรับฐาน เพราะ
- ที่ราคาดังกล่าวตรงกับระดับของเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 50 สัปดาห์ หรือ SMA50W พอดี
- สัญญาณ MACD เป็นลบพร้อมจะไต่ขึ้นไปทางด้านบวก
- สัญญาณ RSI ต่ำกว่า 50 เล็กน้อยและกำลังไต่ขึ้นด้านบวก
- ปริมาณการซื้อขายอยู่ในระดับต่ำ
- การลงนามว่าจ้างก่อสร้างทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนที่เป็นใต้ดิน 1 สัญญา และส่วนการวางรางอีก 1 สัญญา ภายใน 2 - 3 สัปดาห์ข้างหน้า (ก่อนสิ้นเดือน ก.พ. 2554)
- การเข้าเก็บหุ้นของผู้บริหาร (ปลิว ตรีวิศวเวทย์ 24/01/54 ซื้อ 150,000 หุ้นที่ราคาเฉลี่ย 8.55 บาท และสิทธิเดช ตรีวิศวเวทย์ 25/01/54 ซื้อ 100,000 หุ้นที่ราคา 7.95 บาท)
- การพักฐานจากจุดสูงสุด 11.5 บาท ดำเนินมาแล้วประมาณ 4 เดือน ใกล้เคียงกับระยะเวลาการลงสู่จุดต่ำสุดของการพักฐานรอบก่อนหน้า
- เมื่อดูกราฟรายวัน พบว่าระดับราคา 7.5 บาท ตรงกับเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 วัน หรือ SMA200D พอดี ซึ่งเส้นนี้ได้เป็นแนวเด้งเชือกที่แข็งแกร่งสำหรับหุ้น CK มาตลอดการฟื้นตัวนับตั้งแต่ราคา 2 บาทเป็นต้นมา
จากข้อพิจารณาข้างต้นและลักษณะรูปแบบการไต่ระดับราคาของหุ้น CK ผมคิดว่าจากจุดนี้ไปราคาหุ้นน่าจะไต่กลับขึ้นไปที่ระดับ 11.5 บาท แล้วพักสักระยะ จากนั้นจึงพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ด้วยการเพิ่มขึ้นในช่วงประมาณ 50% จาก 11.5 บาท หรือน่าจะขึ้นไปที่จุดสูงสุดใหม่ประมาณ 17 บาท ดังรูปข้างล่าง ช่วงจังหวะการพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นช่วงที่มีการลงนามในสัญญาก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีในลาวที่จะทำให้งานในมือของ CK มีปริมาณเกิน 1 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรกซึ่งมีกำหนดการลงนามประมาณปลายเดือนมีนาคม 2554 ดังนั้นในขณะนี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเข้าเก็บสะสมหุ้น CK แต่เพื่อลดความเสี่ยงลงอีก นักลงทุนอาจจะรออีกนิดเพื่อให้ราคาของ CK ทะลุผ่านเส้นแนวโน้มขาลงระยะสั้นที่ระดับประมาณ 9 บาทไปก่อนก็ได้ครับ
(คลิกภาพเพื่อขยาย)
สำหรับท่านที่ลงทุนด้วยเงินกู้ยืมอาจคาดเดาว่าหุ้น CK จะมีพฤติกรรมคล้ายเดิมคือ หุ้นน่าจะพุ่งขึ้นไป 50% จาก 11.5 บาท หรือไปสูงสุดที่ 17 บาท แล้วปรับลง 30% หรือลงมาอยู่ที่ 12 บาทก่อนจึงจะมีแรงไปต่อ ดังนั้นจึงอาจขายหุ้นเฉพาะส่วนที่ซื้อมาในราคามากกว่า 12 บาท ออกไปก่อนที่ราคาหุ้นจะขึ้นไปแถว ๆ 17 บาท เพื่อเอากำไรไปใช้หนี้ค่าดอกเบี้ยมาร์จิ้น แล้วค่อยกลับลงไปซื้อลงทุนเพิ่มที่ราคาประมาณ 12 บาท ในอีกหลายเดือนถัดมา แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะไม่ทำอย่างที่กล่าวมา ผมก็ยังคิดว่าการซื้อเพิ่มระหว่างหุ้นพุ่งขึ้น 50% แล้วถือรอพักฐานไปอีกหลายเดือนก็ยังคุ้มค่ากับดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในระหว่างการพักฐานนั้นอยู่ดีครับ
===========================================================
เรียนรู้การดูกราฟหุ้นทางเทคนิคได้ที่ Free Stock Technical Analysis Tutorial