Sunday, June 26, 2011

"ทั้งร้านเนี่ย ขายเท่าไหร่?" เข้าใจพื้นฐานการประเมินมูลค่ากิจการ อธิบายแบบง่าย ๆ

          ในโพสต์ก่อน ผมได้ชวนเพื่อนนักลงทุนทำความเข้าใจการทำงานของดอกเบี้ยทบต้นจนสามารถแปลงมูลค่าของเงินจากอนาคตและอดีตมาเป็นมูลค่าในปัจจุบันได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องจำสูตร ท่านที่ยังไม่ได้อ่าน ลองย้อนไปดูโพสต์นั้นก่อน แล้วกลับมาอ่านต่อตรงนี้ครับ
          หลายปีก่อนมีโฆษณาทางทีวีเกี่ยวกับความพิเศษของบัตรเครดิตยี่ห้อหนึ่ง เนื้อเรื่องกล่าวถึง คู่รักกำลังเลือกซื้อแหวนเพชรสำหรับงานแต่งงาน เจ้าของร้านได้ช่วยอำนวยความสะดวกระหว่างการเลือกแหวนเป็นอย่างดี และดูเหมือนว่าแหวนเพชรทุกวงในร้านจะสวยถูกใจคู่บ่าวสาวไปเสียหมด จนไม่รู้จะเลือกวงไหนดี เพื่อตัดปัญหา ในที่สุดเจ้าบ่าวจึงได้หันไปหาเจ้าของร้านพร้อมกับควักบัตรเครดิตยี่ห้อนั้นออกมาจากกระเป๋าแล้วพูดว่า "ทั้งร้านเนี่ย ขายเท่าไหร่?" และได้บอกกับเจ้าของร้านว่านอกจากจะซื้อแหวนแต่งงานแล้ว เขายังอยากจะซื้อกิจการทั้งหมดด้วย! ที่จริงแล้ว ก่อนจะพาว่าที่เจ้าสาวมาซื้อแหวนเพชรในวันนี้ ว่าที่เจ้าบ่าวได้เคยแอบแวะมาคุยกับเจ้าของร้านและได้ทราบว่า กิจการร้านเพชรดำเนินงานไปได้อย่างดีโดยไม่ต้องมีการลงทุนซื้อที่ดินหรืออาคารเป็นของตนเองเลย (เปิดในศูนย์การค้า) การจัดซื้อสินค้าและบริหารงานก็ใช้เงินทุนหมุนเวียนจากสินเชื่อธนาคารทั้งหมด ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่เปิดกิจการมา สามารถสร้างกำไรเป็นเงินสด ๆ 5 บาทต่อหุ้นเท่า ๆ กันทุกปีไม่ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร จากข้อมูลที่ได้รับทราบมานั้น เขาจึงตัดสินใจขอซื้อกิจการจากเจ้าของเดิมต่อหน้าว่าที่เจ้าสาว เพื่อสร้างความประทับใจให้เธอแบบสุด ๆ โดยตั้งเป้าไว้ในใจด้วยว่าการลงทุนครั้งนี้จะต้องได้ผลตอบแทนเท่ากับดอกเบี้ยทบต้น 25% นอกจากนั้นเมื่อซื้อกิจการแล้วเขาจะไม่เข้าไปยุ่มย่ามกับการบริหารงานของเจ้าของเดิม คือยังคงให้เจ้าของเดิมบริหารงานต่อไปในฐานะผู้บริหารมืออาชีพ และคาดแบบอนุรักษ์นิยมสุด ๆ ว่ากิจการจะทำกำไรเป็นเงินสด ๆ อย่างน้อยเท่ากับที่ทำได้ในปัจจุบันนี้ไปเรื่อย ๆ (ไม่มีการเติบโตของกำไร) สมมุติว่าท่านผู้อ่านเป็นว่าที่เจ้าบ่าวที่จะซื้อร้านเพชรแห่งนี้ ท่านจะยินดีจ่ายเงินซื้อกิจการในราคาเท่าไร? จากเรื่องราวข้างต้น ผมรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นได้ดังนี้
  • กิจการทำกำไรเป็นเงินสดหุ้นละ 5 บาท มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คาดว่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกทุก ๆ ปีในอนาคต
  • ว่าที่เจ้าบ่าวต้องการผลตอบแทนจากการลงทุน 25% ทบต้น 
คำถามที่ตามมามีอยู่ว่า กำไรที่เป็นเงินสดซึ่งกิจการจะได้มาในอนาคตนั้น มีค่าเท่าไหร่เมื่อคิดเป็นมูลค่าในปัจจุบัน จากพื้นฐานเรื่องดอกเบี้ยทบต้น เรารู้แล้วว่า การแปลงมูลค่าเงินที่เกิดขึ้นในอนาคตกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบันเมื่อคาดหวังผลตอบแทนทบต้น 25% ทำได้โดยเอาตัวเลขมหัศจรรย์ 1.25 ไปหารมูลค่าเงินในอนาคต ย้อนกลับมากี่ปีก็หารเท่านั้นครั้ง อนาคตยิ่งไกลมากยิ่งหารมากครั้ง ดังตารางข้างล่าง

ปีที่ใน
อนาคต
กำไรในอนาคต
(บาทต่อหุ้น)
จำนวนครั้งที่หารด้วย
1.25 (ทบต้น 25%)
กำไรคิดกลับมาเป็น
มูลค่าปัจจุบัน (บาทต่อหุ้น)
1
5
1
4.00
2
5
2
3.20
3
5
3
2.56
4
5
4
 2.05
5
5
5
1.64
6
5
6
1.31
7
5
7
1.05
8
5
8
0.84
9
5
9
0.67
10
5
10
0.54
11
5
11
0.43
12
5
12
0.34
13
5
13
0.27
14
5
14
0.22
15
5
15
0.18
16
5
16
0.14
17
5
17
0.11
18
5
18
0.09
19
5
19
0.07
20
5
20
0.06
21
5
21
0.05
22
5
22
0.04
23
5
23
0.03
24
5
24
0.02
25
5
25
0.02
26
5
26
0.02
27
5
27
0.01
28
5
28
0.01
29
5
29
0.01
30
5
30
0.01
31
5
31
0.00

ข้อมูลในตารางแสดงว่า มูลค่าของกำไร 5 บาทต่อหุ้นแต่ละปีในอนาคตเมื่อคิดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบันจะมีค่าน้อยลงเรื่อย ๆ ตามจำนวนปีที่ผ่านไป และในที่สุด กำไร 5 บาทต่อหุ้นที่เกิดขึ้นในปีที่ 31 เป็นต้นไป จะมีค่าเท่ากับศูนย์ในปัจจุบัน ดังนั้นผลรวมของกำไรในอนาคตทั้ง 30 ปี (รวมตัวเลขในช่องขวาสุด) จะมีค่าเท่ากับ 19.98 บาทต่อหุ้นในปัจจุบัน ดังนั้นมูลค่ากิจการร้านเพชรที่เป็นธรรมสำหรับว่าที่เจ้าบ่าวรายนี้คือ 19.98 บาทต่อหุ้น คิดเป็นราคาต่อกำไร หรือ P/E เท่ากับ 19.98 บาท / 5 บาท = 4 เท่า ต่อจากนี้การซื้อขายกิจการจะเกิดขึ้นจริง ๆ ได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของเดิมต้องการขายที่ราคาเท่าไหร่ เป็นที่พอใจทั้งสองฝ่ายหรือไม่
          จากตัวอย่างการหามูลค่ากิจการร้านเพชรที่ยกมาอธิบายจะเห็นได้ว่ามูลค่าของกิจการที่หาได้จะขึ้นอยู่กับข้อสมมุติหลายประการ ดังนั้นผู้ที่ทำการประเมินมูลค่ากิจการแต่ละคนก็อาจจะมีข้อสมมุติที่แตกต่างกันไปทำให้ได้มูลค่าของกิจการไม่เท่ากัน ผู้ที่มีประสบการณ์มาก ตั้งข้อสมมุติต่าง ๆ ได้ตรงความเป็นจริงของกิจการมากที่สุด ก็จะทราบมูลค่าของกิจการได้แม่นยำตามความเป็นจริงมากกว่าคนอื่น ๆ ตรงนี้แหละครับที่เป็น "ศิลปะแห่งการลงทุน" ซึ่งมีอยู่ในตัวของเซียนหุ้นระดับตำนานทั้งหลายแต่ขาดหายไปจากเราท่านที่นั่งเขียนนั่งอ่านกันอยู่ ณ ที่นี้ แต่ผมเชื่ออย่างสนิทใจครับว่า ความชำนาญที่ว่านี้สามารถฝึกฝนให้เกิดขึ้นได้ในตัวเพื่อนนักลงทุนทุกคนครับ
          เนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูงมากในการหามูลค่ากิจการ ดังนั้นเราจะต้องพิจารณาข้อสมมุติต่าง ๆ ว่ามีผลต่อมูลค่าที่แท้จริงของกิจการอย่างไร ปัจจัยที่ต้องดูได้แก่
  • กำไรในอนาคตแต่ละปีของหุ้นที่คาดว่าจะทำได้ แนวโน้มการเติบโต หรือการถดถอยของกำไร ซึ่งไม่จำเป็นต้องคงที่เหมือนในตัวอย่างร้านเพชรที่ยกมาแสดงก็ได้ เช่นกำไรต่อหุ้นอาจเติบโตปีละ 10 % ใน 10 ปีแรก แล้วเติบโตเพียง 1 % หลังจากนั้น เป็นต้น
     
  • อัตราผลตอบแทนการลงทุนที่ต้องการ ถ้าเราต้องการผลตอบแทนสูง ตัวเลขมหัศจรรย์ที่ใช้หารมูลค่าอนาคตมาเป็นปัจจุบันก็จะมากขึ้น ทำให้เมื่อเวลาผ่านไป มูลค่ากำไรที่คิดเป็นปัจจุบันแล้วจะลดลงอย่างรวดเร็ว ผลรวมของทุกปีในอนาคตจึงได้เป็นมูลค่ากิจการที่น้อยลง (เก็บกินได้สั้นลง) ตารางต่อไปนี้แสดงการเปลี่ยนแปลงมูลค่ากิจการร้านเพชรแห่งนี้ตามสมมุติฐานเดิมของว่าที่เจ้าบ่าว แต่ลองเปลี่ยนอัตราผลตอบแทนทบต้นที่เขาพอใจเป็นค่าต่าง ๆ ซึ่งจะพบว่ามูลค่าของกิจการที่เป็นธรรมสำหรับว่าที่เจ้าบ่าวเป็นไปได้ตั้งแต่ 6.25 บาทต่อหุ้นถ้าเขาพอใจผลตอบแทนการลงทุน 80 % ทบต้น ไปจนถึง 49.95 บาทต่อหุ้นถ้าเขาพอใจผลตอบแทนการลงทุนที่ 10 % ทบต้น ตารางข้างล่างจะทำให้เพื่อนนักลงทุนเห็นภาพได้ดีขึ้น

สรุป
ว่าที่เจ้าบ่าวมีสมมุติฐานว่า กิจการไม่มีสินทรัพย์อื่นใดนอกจากสินทรัพย์และหนี้สินหมุนเวียนที่ก่อให้เกิดกำไรหุ้นละ 5 บาท ไปทุกปีในอนาคต หากเขาต้องการผลตอบแทนการลงทุนทบต้นในอัตราต่าง ๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นดังนี้

  • ผลตอบแทนทบต้น 10% หากลงทุน 72 ปี กำไรรวมเป็นมูลค่าปัจจุบันได้ 49.95 บาท
  • ผลตอบแทนทบต้น 20% หากลงทุน 37 ปี กำไรรวมเป็นมูลค่าปัจจุบันได้ 25.00 บาท
  • ผลตอบแทนทบต้น 40% หากลงทุน 20 ปี กำไรรวมเป็นมูลค่าปัจจุบันได้ 12.50 บาท
  • ผลตอบแทนทบต้น 80% หากลงทุน 11 ปี กำไรรวมเป็นมูลค่าปัจจุบันได้ 6.25 บาท
ในชีวิตจริง เพื่อนนักลงทุนควรใช้ผลตอบแทนที่คาดหวังที่สมเหตุสมผลด้วยกล่าวคือ ถ้าการลงทุนร้านเพชรแห่งนี้ให้ผลตอบแทนทบต้นสูงถึง 25% เจ้าของเดิมคงไม่ยอมขายให้เราเป็นแน่ ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นประจำปี 1986 วอร์เรน  บัฟเฟตต์ ได้ระบุว่าเขาและหุ้นส่วนใช้ตัวเลข 9 % ในการหามูลค่าของกิจการที่จะเข้าลงทุน ซึ่งผมเดาว่าน่าจะเป็นผลรวมของดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐกับอัตราเงินเฟ้อ หมายความว่าให้ผลตอบแทนที่ได้ัคืนมาเพียงพอที่จะเอาชนะเงินเฟ้อได้และในขณะเดียวกันก็แข่งขันได้กับการลงทุนในตราสารหนี้ของรัฐบาล (ปัจจุบันไม่รู้บัฟเฟตต์ใช้เท่าไร เพราะตัวเลขดังกล่าวเขาบอกไว้ตั้งแต่ปี 1986 แต่น่าจะยังคงใช้ค่าประมาณนี้) ผมตรวจสอบผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่เว็บของ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (thaibma.or.th) พบว่าผลตอบแทนสูงสุดต่ำกว่า 5 % เล็กน้อย และเมื่อดูภาวะเศรษฐกิจจากเว็บของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (bot.or.th) พบว่าเงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่า 4 % เล็กน้อย รวมคร่าว ๆ ประมาณ 9 % อย่างที่วอร์เรน  บัฟเฟตต์ใช้พอดีซึ่งในบ้านเราน่าจะใช้ได้เช่นเดียวกันครับ

==============================================
ผ่างบการเงิน ชำแหละพื้นฐานหุ้น ลงทุนถูกเวลา รักษาต้นทุน นำหนุนกระแสเงินสด

มูลค่าที่แท้จริงของหุ้น = มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ + มูลค่าปัจจุบันของ [ มูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่เพิ่มขึ้นและเงินปันผลรับระหว่างถือหุ้น 10 ปี ]

ค้นหา "ลงทุนหุ้นไทย"

หาเพื่อนนักลงทุนในกลุ่มสนทนา " ชำแหละพื้นฐานหุ้น"

Thursday, June 23, 2011

เข้าใจแนวคิดเบื้องหลังสูตรคำนวณดอกเบี้ยทบต้น อธิบายแบบง่าย ๆ

          มีผู้กล่าวเอาไว้ว่า ดอกเบี้ยทบต้น คือสิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก ท่านนักลงทุนที่กำลังผ่อนบ้าน ผ่อนรถอยู่ คงรู้ซึ้งดีว่าคำกล่าวนี้ช่างสมจริงเสียนี่กระไร ทั้งนี้เป็นเพราะ ไม่ว่า เงินต้น จะเป็นสินทรัพย์ หรือเป็นหนี้สิน เมื่อเวลาผ่านไป เงินต้นนั้นจะเบ่งบานขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ เนื่องจากผลของมันเป็นได้ทั้งในทางดีหรือทางร้าย ท่านผู้อ่านเคยคิดบ้างหรือไม่ว่า ท่านเข้าใจมันจริง ๆ หรือเปล่า ถ้าให้ทำการคำนวณเกี่ยวกับดอกเบี้ยทบต้นด้วยเครื่องคิดเลขอย่างง่ายตามตลาด หรือด้วย app เครื่องคิดเลขในมือถือ ท่านจะทำได้หรือไม่ ?
          เท่าที่ผมสืบค้นดูจากอินเตอร์เน็ต มีผู้อธิบายเกี่ยวกับดอกเบี้ยทบต้นไว้มากมายทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ แต่โดยมากจะยกสูตรคำนวณมาบอกเลย ทำให้ไม่นานเราก็จะลืมสูตรที่ว่านี้ ปัญหานี้แก้ได้ง่าย ๆ ถ้าเราเข้าใจเบื้องหลังแนวคิดของสูตรดอกเบี้ยทบต้นว่ามีความเป็นมาอย่างไร ขอให้มีเครื่องคิดเลขที่สามารถบวกลบคูณหารได้เท่านั้นก็เพียงพอ ท่านอาจจะสงสัยว่า ผมเอาเรื่องนี้มาพูดในเว็บลงทุนหุ้นไทยทำไม คำตอบคือถ้าท่านคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็น ท่านจะคำนวณมูลค่าพื้นฐาน หรือที่ชอบพูดกันว่า fair value ของหุ้นได้อย่างง่ายดายเช่นเดียวกัน สำหรับในโพสต์นี้ เอาเรื่องดอกเบี้ยทบต้นก่อนโดยเริ่มจากตัวอย่างนี้ครับ

  • สมมุติท่านไปซื้อของมูลค่า 100 บาท ยังไม่รวม VAT ถามว่าท่านต้องจ่ายเงินให้คนขายเท่าไรเมื่อรวม VAT แล้ว ใคร ๆ ก็ต้องตอบได้อย่างรวดเร็วว่า 107 บาท ถามว่าท่านคิดอย่างไร ? ตอบว่า 100 x 1.07 = 107 บาท
     
  • ทีนี้เปลี่ยนคำถามใหม่ว่า ถ้าท่านไปซื้อของมูลค่า 107 บาท รวม VAT แล้ว ถามว่ามูลค่าของไม่รวม VAT เท่ากับกี่บาท ตอบว่า 100 บาท ถามต่อว่า ท่านคิดอย่างไร ? ตอบว่า 107 / 1.07 = 100 บาท


จากทั้งสองตัวอย่างข้างต้น ตัวเลขมหัศจรรย์ที่เราใช้ก็คือ 1.07 ซึ่งตัวเลขหลังจุดก็คือ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 07 เปอร์เซนต์นั่นเอง พูดสั้น ๆ ว่า

  • เงินต้น 100 บาท ต้องการหาว่าบวก VAT เข้าไปแล้ว (มูลค่ามากขึ้น) รวมเป็นเท่าไร ก็เอา 1.07 ไปคูณ ได้ 107 บาท
     
  • หรือ ราคาขายรวม VAT 107 บาท ต้องการหาว่า ก่อนรวม VAT (มูลค่าลดลง) ของมีราคาเท่าไร ก็เอา 1.07 ไปหาร ได้ 100 บาท

กลับมาเรื่องดอกเบี้ยทบต้น สมมุติเอาเงิน 100 บาทไปฝากแบงค์ ดอกเบี้ย 7% ผ่านไป 1 ปี เงินจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 x 1.07 = 107 บาท ผ่านไปอีก 1 ปี เงินจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 x 1.07 x 1.07 = 114.49 บาท ผ่านไปอีก 1 ปี เงินจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 x 1.07 x 1.07 x 1.07 = 122.50 บาท พูดสั้น ๆ ว่า ผ่านไปกี่ปี ก็เอา 1.07 คูณเข้าไปเท่านั้นครั้ง ดังนั้น เงินต้น 2000 บาท ฝากเงินไว้ 5 ปีจะเพิ่มเป็นเท่าไร ? คำตอบคือ
2000 x 1.07 x 1.07 x 1.07 x 1.07 x 1.07 = 2805.10 บาท  หรือเท่ากับ 2000 x (1.07)5 ตรงกับสูตรดอกเบี้ยทบต้นคือ

มูลค่าเงิน n ปีจากนี้ไป = [มูลค่าปัจจุบัน] x [1 + (r/100)]n  

โดยที่ n คือจำนวนปีที่ฝากเงิน และ r คืออัตราดอกเบี้ย

จะเห็นว่า  (1.07)5 ก็คือการคูณด้วย 1.07 ทั้งหมด 5 ครั้งนั่นเอง

ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงเดาได้นะครับว่า ถ้าเงินในธนาคารตอนนี้เท่ากับ 2805.10 บาท เมื่อ 5 ปีก่อน เงินต้นจะมีค่าเท่ากับ 2805.10 / (1.07)5 = 2000 บาท ตรงกับสูตรดอกเบี้ยทบต้น คือ


มูลค่าเงินต้นเมื่อ n ปีก่อน = [มูลค่าปัจจุบัน] / [1 + (r/100)]n  

โดยที่ n คือจำนวนปีที่ฝากเงิน และ r คืออัตราดอกเบี้ย


ลองฝึกดูอีกสักสองตัวอย่างครับ

ตัวอย่าง
การลงทุนชนิดหนึ่งให้ผลตอบแทนเท่ากับดอกเบี้ยทบต้น 10% เงินลงทุน 100 บาท ผ่านไป 10 ปี จะกลายเป็นเงินเท่าไร ?


วิธีทำ
ดอกเบี้ยทบต้น 10% ดังนั้นตัวคูณคือ 1.10 เอาเงินลงทุน 100 บาท คูณด้วย 1.10 ทั้งหมด 10 ครั้ง หรือ 100 x (1.10)10 = 259.37 บาท

ด้วยผลตอบแทนทบต้น 10% เงิน 259.37 บาท ในอนาคต 10 ปีข้างหน้า มีค่าเท่ากับเงิน 100 บาท ในปัจจุบัน

ตัวอย่าง
การลงทุนชนิดหนึ่งให้ผลตอบแทนเท่ากับดอกเบี้ยทบต้น 15% ต้องการให้มูลค่าเงินใน 10 ปี ข้างหน้าเท่ากับ 8 ล้านบาท วันนี้ต้องเอาเงินต้นไปลงทุนเท่าไร ?


วิธีทำ
ดอกเบี้ยทบต้น 15% ดังนั้นตัวหารคือ 1.15 เอาเงินในอนาคต 8 ล้านบาท หารด้วย 1.15 ทั้งหมด 10 ครั้ง หรือ 8,000,000 / (1.15)10 = 1,977,477.65 บาท

ด้วยผลตอบแทนทบต้น 15% เงิน 8 ล้านบาท ในอนาคต 10 ปีข้างหน้า มีค่าเท่ากับเงิน 1.98 ล้านบาท ในปัจจุบัน

หลังจากเข้าใจหลักการทำงานของดอกเบี้ยทบต้นแล้ว ผมหวังว่าท่านผู้อ่านคงจะไม่ลืมวิธีการคำนวณดอกเบี้ยทบต้นอีก และหวังว่าท่านจะสามารถแปลงมูลค่าเงินในอนาคตมาเป็นปัจจุบัน หรือแปลงมูลค่าในปัจจุบันไปเป็นมูลค่าในอนาคตได้อย่างรวดเร็วนะครับ

Short URL = http://bit.ly/11llF9C

==============================
ผ่างบการเงิน ชำแหละพื้นฐานหุ้น ลงทุนถูกเวลา รักษาต้นทุน นำหนุนกระแสเงินสด

มูลค่าที่แท้จริงของหุ้น = มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ + มูลค่าปัจจุบันของ [ มูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่เพิ่มขึ้นและเงินปันผลรับระหว่างถือหุ้น 10 ปี ]

ค้นหา "ลงทุนหุ้นไทย"

หาเพื่อนนักลงทุนในกลุ่มสนทนา " ชำแหละพื้นฐานหุ้น"

Wednesday, June 15, 2011

ชำแหละหุ้น IVL กิจการผลิต PET อันดับ 1 ของโลก ดีจริงหรือปั่นราคา ?

ในการติดตามข่าวสารการลงทุนผ่านสื่อโทรทัศน์ ผมมักได้ยินผู้ดำเนินรายการพร่ำเตือนนักลงทุนออกอากาศอยู่เสมอว่า "การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน" (พูดเร็ว ๆ เหมือนโฆษณาเครื่องดื่มชูกำลัง) บางครั้งเราได้ยินคำเตือนนี้บ่อยเสียจนไม่ได้ฉุกคิดว่า เราได้ศึกษาข้อมูลตามที่ผู้ดำเนินรายการได้เตือนเอาไว้แล้วหรือยัง และศึกษาถึงระดับไหน อย่างไร เพียงพอหรือไม่ คือฟังเข้าหูซ้าย ทะลุออกหูขวา แล้วก็เข้าลงทุนแบบตามแห่...เหมือนเดิม แต่หลังจากที่ผมศึกษาและลองผิดลองถูกจนเข้าใจและสามารถชำแหละปัจจัยพื้นฐานของหุ้นโดยตรงจากงบการเงินของกิจการได้ด้วยตนเอง ดังได้เผยแพร่ให้เพื่อนนักลงทุนได้พิจาณามาหลายตัวแล้วนั้น มาบัดนี้ เมื่อใดก็ตามที่ผมได้ยินคำเตือนดังกล่าว ในสมองจะมีข้อความใหม่ผุดขึ้นมาแทนทันทีว่า "การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรชำแหละหุ้นดูให้ดี ๆ ทุกครั้งก่อนการตัดสินใจลงทุน" เพราะหุ้นบางตัวดูแค่กำไรสุทธิ ค่า PE หรือคำคุยโม้ของผู้บริหาร ไม่ได้จริง ๆ ตามที่ได้สัญญาไว้กับเพื่อนนักลงทุนหลายท่าน ที่กรุณาแนะนำหุ้นมาให้ผมชำแหละเอาสิ่งที่ซ่อนอยู่ข้างใน ออกมาวางเรียงดูกัน วันนี้ถึงคิวของ IVL กิจการผลิต PET อันดับ 1 ของโลก ข้างในจะเป็นอย่างไร ดีจริง หรือ ปั่น ดูกันที่ข้อมูลที่หาได้ต่อไปนี้ครับ
เริ่มด้วยการรู้จักกิจการของ IVL ก่อน ข้อมูลจากเว็บไซต์บริษัทสรุปได้ว่า Indorama Ventures เป็นผู้ผลิตสินค้าจากห่วงโซ่อุปทานปิโตรเคมีประเภทโพลีเอสเตอร์แบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นบริษัทชั้นนำในการผลิตเส้นด้ายขนสัตว์ระดับโลก ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีดังนี้
  • PET (พีอีที) หรือพลาสติกที่ใช้ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ ใส่เครื่องดื่ม อาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน ของใช้ส่วนตัว เภสัชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยใช้แทนวัสดุจำพวก อลูมิเนียม พีวีซี และแก้ว บรรจุภัณฑ์จาก PET จัดว่าเป็นวัตุดิบที่ดีที่สุดสำหรับบรรจุอาหารเครื่องดื่ม เนื่องจากรีไซเคิลได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และราคาถูก สินค้า PET ของ IVL แบ่งออกเป็น

    - PET resin เป็นเม็ดพลาสติกที่เป็นวัสดุหลักในการขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์ซึ่งลูกค้านำไปเข้ากระบวนการเติมสี หรือสารปรุงแต่งอื่น ๆ เอง

    - PET preforms เป็นแท่งพลาสติก PET สำเร็จรูปที่มีขนาด ปริมาณ และคุณสมบัติจากการปรุงแต่งอื่น ๆ ตามมาตรฐาน พร้อมนำไปขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์แบบต่าง ๆ ทั้งแบบใสและมีสีสัน ได้ทันที

    - Bottles เป็นขวดบรรจุน้ำดื่ม และน้ำอัดลม (carbonated soft drink: CSD) ที่ผลิตตามแบบและความต้องการของลูกค้า ด้วยกระบวนการเป่าขึ้นรูป

    - Closures เป็นฝาปิดขวดบรรจุภัณฑ์ แบบต่าง ๆ ที่ผลิตด้วยกระบวนการฉีดขึ้นรูป
  • Polyester (โพลีเอสเตอร์) หรือวัสดุสังเคราะห์ซึ่งเป็นส่วนผสมของ PTA (purified terephthalic acid) และ MEG (monoethylene glycol) ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ สินค้าโพลีเอสเตอร์แบ่งออกเป็น

    - แผ่นชิพโพลีเอสเตอร์ ใช้เป็นวัตุถุดิบในการแปรรูปโพลีเอสเตอร์ให้กลายเป็นเส้นใย เป็นรูปแบบของเทคโนโลยีรุ่นเก่าที่ไม่สามารถสร้างเส้นใยจากส่วนผสมของ PTA+MEG ได้โดยตรง โรงงานผลิตเส้นใยรุ่นเก่ายังมีการใช้วัตถุดิบในรูป polyester chip อยู่ แต่น้อยลงเรื่อย ๆ และในช่วงที่มีการปิดเครื่องผลิตเส้นใยโดยตรงจาก PTA+MEG เพื่อการซ่อมบำรุง บางครั้งจะมีการผลิต polyester chip ออกมาแทนเส้นใยประเภทต่าง ๆ

    - เส้นใยโพลีเอสเตอร์ เป็นเส้นใยสังเคราะห์ที่นำไปปั่นให้เป็นเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์

    - เส้นด้ายโพลีเอสเตอร์ เป็นเส้นด้ายสังเคราะห์ที่ใช้ทอเป็นผ้าชนิดต่าง ๆ

    - เส้นใยฉนวนความร้อน
  • PTA (พีทีเอ) หรือ purified terephthalic acid กิจการนี้เ็ป็นการแปรสภาพ PX (paraxylene) ซึ่งซื้อมาจากโรงกลั่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ไปเป็น PTA ซึ่งใช้ร่วมกับ MEG ในการผลิต PET resin และ Polyester โดยที่ครึ่งหนึ่งของ PTA ซึ่งผลิตได้ จะถูกใช้ในกลุ่มกิจการ IVL ส่วนที่เหลือถูกส่งขายลูกค้านอกกลุ่ม
  • Wool (เส้นด้ายขนสัตว์) กิจการนี้เป็นการแปรรูปวัตถุดิบขนสัตว์ เป็นเส้นด้าย

IVL เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อต้นปี 2010 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บริษัทได้ขยายกิจการผลิตสินค้า 4 ประเภทดังได้กล่าวแล้ว ใน 3 ลักษณะคือ การสร้างโรงงานใหม่ (green field) การขยายกำลังการผลิตของโรงงานเดิม (brown field) และการซื้อกิจการที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้วแต่ประสบปัญหาการเงินเนื่องจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ IVL มีการเติบโตด้านกำลังการผลิตอย่างรวดเร็วมากเนื่องมาจากโอกาสในการขยายกิจการในลักษณะที่ 3 ข้างต้น ทำให้บริษัทกลายมาเป็นผู้ผลิต PET อันดับ 1 ของโลกไปแล้วในปีนี้ IVL ได้ขยายกิจการกระจายไปลงทุนใน 11 ประเทศ 4 ทวีป ทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่งวัดถุดิบไปผลิต และขนส่งผลิตภัณฑ์ไปขาย
เมื่อทราบลักษณะของกิจการในเบื้องต้นแล้ว ต่อไปจึงดูกราฟราคาหุ้น IVL แบบรายเดือนเพื่อดูภาพรวมของหุ้น ดังภาพข้างล่าง ซึ่งจะเห็นได้ว่า ราคาหุ้นอยู่ในขาขึ้นมาโดยตลอด ในรอบระยะเวลา 1 ปีครึ่งที่ผ่านมาราคาหุ้นเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 2.85 บาทต่อเดือน หรือมีโอกาสขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 66 - 72 บาทภายในสิ้นปี 2011 ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นได้เข้าสู่ช่วงพักฐานสะสมพลังเนื่องจากได้ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2010 ในระหว่างการพักฐานนี้ ราคาหุ้นได้กำหนดแนวต้านไว้ที่ระดับสูงสุดเดิมประมาณ 55-61 บาท ซึ่งได้ทดสอบแนวต้านนี้แล้ว เมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน 2011 แต่ไม่สามารถผ่านไปได้ เมื่อพิจารณาของกราฟ MACD รายเืดือนของ IVL พบว่านับตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นต้นมาจนถึงสิ้นปี 2010 แท่งฮิสโตแกรมมีระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีค่าลดลงเป็นครั้งแรกในเืดือนมกราคม 2011 ซึ่งราคาหุ้นเริ่มพักฐานลงมาเนื่องจากการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นโดยการลดสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ในเครือของผู้บริหารกระจายให้ผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ราคาหุ้นเข้าสู่การพักฐานโดยสมบูรณ์ในครึ่งปีแรกของปี 2011 ด้วยลักษณะเคลื่อนตัวออกข้างในแนวแคบระหว่าง 40 - 55 บาท จากกราฟจะเห็นว่าการกระเพื่อมของราคาหุ้นในระหว่างพักฐานนี้อยู่ในช่วงค่อนข้างแคบ ลักษณะการลดลงเรื่อย ๆ ของระดับแท่งฮิสโตแกรม และปริมาณการซื้อขายหุ้น ทำให้คาดได้ว่าการพักฐานรอบนี้น่าจะสิ้นสุดลงหลังการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2011Q2 เนื่องจาก IVL มีประวัติการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ค่อนข้างสั้น ทำให้ระดับแท่งฮิสโตแกรมยังไม่เคยลดลงไปจนติดลบเลย แม้ในการพักสร้างฐานรอบปัจจุบัน เพียงแต่ลดลงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นราคาหุ้น IVL จึงยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นต่อไป

(คลิกเพื่อขยายภาพ)

แม้ว่าแนวโน้มระยะยาวจะยังเป็นขาขึ้น เราจะยังขุดลึกลงไปในงบการเงินของกิจการเพื่อดูว่าสมควรที่ราคาหุ้นจะขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ ได้หรือไม่ มีอะไรเป็นหลักฐานว่ากิจการมีความแข็งแกร่งเหมาะสมกับราคาที่ไต่ระดับขึ้นไป จากการขุดคุ้ยข้อมูลในเว็บไซต์ของ IVL ผมได้งบการเงินย้อนกลับไปถึงปี 2008 (งบรายปี) ส่วนงบการเงินรายไตรมาสนั้นเริ่มมีในครึ่งหลังของปี 2009 เป็นต้นมา เนื่องจากต้องการเปรียบเทียบผลประกอบการที่เป็นกำไรสุทธิและรายได้ของกิจการเป็นรายไตรมาส งบการเงินที่จะนำไปใช้ได้จึงเริ่มจาก 2009Q4 เป็นต้นมา ดังนั้นตัวเลขของปี 2009 จึงมี 2 ช่วงคือ 9 เืดือนแรก (2009M9) และ 3 เดือนสุดท้าย (2009Q4) ในการการแกะข้อมูลจากงบการเงินรายไตรมาสเราต้องการคำนวณหา กำไรสุทธิต่อหุ้น (earning per share: EPS) การเติบโตของกำไรต่อหุ้นเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY EPS growth) รายได้ต่อหุ้น (revenue per share) การเติบโตของรายได้ของกิจการ (YOY revenue growth) กำไรของผู้ถือหุ้น (owner's earning) มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (Net Asset Value) และการประหยัดจากขนาด (economy of scale) การเปลี่ยนแปลงค่าของปัจจัยเหล่านี้ในแต่ละไตรมาสที่ผ่านไปจะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินกิจการได้อย่างทันท่วงที วิธีการคำนวณปัจจัยพื้นฐานดังกล่าวตลอดจนที่มาของข้อมูลจากส่วนต่าง ๆ ของงบการเงินสรุปได้ดังนี้
  • EPS หาได้จากการนำ กำไรสุทธิ (net income) หารด้วยจำนวนหุ้น โดยเอากำไรสุทธิมาจาก งบกำไร-ขาดทุน (income statements) และเอาจำนวนหุ้นมาจาก งบดุล (balance sheet)
  • การเติบโตของ EPS หาได้จากการเปรียบเทียบ EPS ของไตรมาสที่กำลังคำนวณ กับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือ
    100 x ( EPS ไตรมาสที่คำนวณ - EPS ไตรมาสปีก่อนหน้า) / EPS ไตรมาสปีก่อนหน้า
    เป็นเปอร์เซนต์
  • รายได้สุทธิต่อหุ้น หาได้จาก รายได้สุทธิ (total revenue) หารด้วยจำนวนหุ้น โดยเอารายได้สุทธิมาจาก งบกำไร-ขาดทุน (income statements)
  • การเติบโตของ รายได้สุทธิต่อหุ้น หาได้จากการเปรียบเทียบ รายได้สุทธิต่อหุ้น ของไตรมาสที่กำลังคำนวณ กับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือ
    100 x (รายได้ไตรมาสที่คำนวณ - รายได้ไตรมาสปีก่อนหน้า) / รายได้ไตรมาสปีก่อนหน้า
    เป็นเปอร์เซนต์
  • กำไรของผู้ถือหุ้น (owner's earning) เป็นเงินสุทธิที่ไหลเข้าบริษัทในรอบระยะเวลานั้นซึ่งหักค่าใช้จ่ายลงทุนเกี่ยวกับที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ออกไปแล้ว เปรียบเสมือนมูลค่ากำไรที่สะสมตกทอดมายังเจ้าของกิจการ (ผู้ถือหุ้น) กำไรของผู้ถือหุ้น อาจเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า กระแสเงินสดอิสระ (free cash flow) การคำนวณเริ่มจากการนำกระแสเงินสดที่ได้รับจากการดำเนินงาน (operating cash flow) หักออกด้วยค่าใช้จ่ายลงทุนใน ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ (capital expenditures) ที่จำเป็นต้องใช้ในการรักษาสถานะของกิจการให้คงอยู่ต่อไป

    สำหรับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหาได้จากงบกระแสเงินสด (cash flow statements) ในส่วน กระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน (cash flow from operating activities) ที่ระบุว่า เงินสดที่ได้รับเข้ามาจากกิจกรรมการดำเนินงาน (net cash obtained from operating activities)

    ส่วนค่าใช้จ่ายลงทุนเพื่อรักษาสถานะของกิจการหาได้จากงบกระแสเงินสด (cash flow statements) ในส่วน กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน (cash flow from investing activities) ที่ระบุว่า เป็นเงินสดจ่ายเพื่อซื้อที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ (cash paid for acquisition of property, plant and equipment)

    โดยสรุป owner's earning = free cash flow =
    [cash obtained from operation] -[ cash paid for acquisition of property, plant and equipment]
  • การประหยัดจากขนาด (economy of scale) หมายถึง กำไรของผู้ถือหุ้นที่กิจการได้รับต่อปริมาณเงินลงทุนที่ใช้ไปในการซื้อที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ กิจการที่ใช้สร้างกำไรของผู้ถือหุ้นได้มากโดยใช้เงินลงทุนในที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์น้อย ๆ ถือเป็นกิจการที่มีการประหยัดจากขนาด เปรียบกิจการแบบนี้เหมือนเป็นเครื่องปั๊มเงิน เราแค่ป้อนวัตถุดิบคือ กระดาษ หมึกพิมพ์ และไฟฟ้าเข้าไป เครื่องก็จะพ่นธนบัตรออกมา ในฐานะเจ้าของเครื่องปั๊มเงิน เราย่อมอยากได้เครื่องปั๊มเงินที่กินไฟน้อย ใช้กระดาษ และหมึกพิมพ์อย่างประหยัดที่สุด แต่พ่นธนบัตรออกมามากที่สุด ดังนั้นตัวเลขการประหยัดจากขนาดที่ได้จากการคำนวณแบบนี้ ยิ่งเป็นตัวเลขที่มาก ยิ่งดี
  • มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ต่อหุ้น คือ สินทรัพย์ลบด้วยหนี้สิน หารด้วยจำนวนหุ้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มูลค่าทางบัญชีของกิจการ (book value) สินทรัพย์สุทธิ และหนี้สินสุทธิ เอามาจากงบดุล (balance sheet)

ค่าปัจจัยพื้นฐานของหุ้นที่เราต้องการคำนวณมี 2 ลักษณะคือ ค่าปัจจัยรายไตรมาส และค่าปัจจัยที่สะสมมาตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ (หรือย้อนไปเท่าที่มีข้อมูล) ทั้ง 2 แบบจะทำให้เรามองเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในกิจการรวมทั้งแนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตในมุมมองที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงคำนวณทั้ง 2 แบบ สำหรับปัจจัยแบบไม่สะสมของ IVL เป็นไปตามตารางข้างล่าง

(คลิกเพื่อขยายภาพ)

จากผลลัพธ์ในตารางจะเห็นว่า กำไรสุทธิต่อหุ้นรายไตรมาสนับตั้งแต่ 2009Q4 เป็นต้นมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากมุมมองข้อมูลที่เป็นกราฟดังภาพข้างล่าง จะพบแนวโน้มการเพิ่มค่าของกำไรสุทธิที่มีลักษณะก้าวกระโดด หรือมีรูปกราฟเป็นแบบเอ็กโปเนนเชียล อันเป็นลักษณะที่สะท้อนการขยายกำลังการผลิตด้วยการเข้าซื้อกิจการในภูมิภาคต่าง ๆ นั่นเอง สำหรับการเติบโตของกำไรสุทธิพบว่ามีค่ามากกว่า 99 % เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ติดต่ิอกันตลอด 3 ไตรมาสที่ผ่านมา

กราฟแสดงกำไรสุทธิของ IVL ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มค่าขึ้นด้วยอัตราเร่ง

กราฟแสดงอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิของ IVL พบว่ามีการเติบโตเกิน 99% ติดต่อกันใน 3 ไตรมาสล่าสุด

สำหรับรายได้ของ IVL นั้นมีการเปลี่ยนแปลงลดลงในช่วง 2009Q3-2010Q1 และค่อนข้างคงที่ใน 3 ไตรมาสถัดมา เพิ่งจะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดในไตรมาสล่าสุดนี้เอง ทั้ง ๆ ที่กำไรสุทธิมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก แสดงว่าในช่วงก่อนการเข้าไล่ซื้อกิจการเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตนั้น บริษัทมีรายได้ค่อนข้างคงที่ แต่มีกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการขาดแคลนฝ้ายในตลาดโลก ทำให้เส้นใยโพลีเอสเตอร์ซึ่งเป็นวัสดุทดแทนฝ้ายมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้น่าจะเกิดจากผลการจัดลักษณะของผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 ประเภทให้สอดคล้องกันแบบครบวงจร มีการใช้วัตถุดิบอันเป็นผลิตภัณฑ์ของกิจการภายในกลุ่ม เป็นการลดต้นทุน และมีกำไรเพิ่มในที่สุด สำหรับการเพิ่มขึ้นอย่างมากของทั้งรายได้และกำไรสุทธิในไตรมาส 2011Q1 นั้น น่าจะเป็นเกิดจากการเข้าซื้อกิจการเพื่อขยายกำลังการผลิตในประเทศต่าง ๆ เริ่มปรากฎผลการประหยัดจากขนาดและการประหยัดต้นทุนค่าขนส่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ เพราะผลิตและจำหน่ายในภูมิภาคเดียวกัน ไม่ต้องขนส่งข้ามโลกระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ

กราฟแสดงแนวโน้มรายได้ของ IVL ซึ่งลดลงในช่วงหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และค่อนข้างคงที่ตลอดปี 2010 รายได้มีก้าวกระโดดอย่างมากในไตรมาส 2011Q1 ที่ผ่านมา

กราฟแสดงอัตราการเติบโตของรายได้ของ IVL พบว่ามีมีการหดตัวอย่างสม่ำเสมอในช่วงครึ่งหลังของปี 2010 (ไม่มีข้อมูลการเติบโตก่อนหน้านั้น) เพิ่งมีการเติบโตเกิน 73% ในไตรมาสล่าสุด

จากข้อมูลในงบการเงินรายไตรมาส เมื่อนำตัวเลขสินทรัพย์ ลบออกด้วยหนี้สิน จะได้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) หรือมูลค่าทางบัญชี (book value) ของกิจการในแต่ละไตรมาส พบว่า นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา สินทรัพย์สุทธิของกิจการมีค่าค่อนข้างคงที่ในช่วง 5 - 8 บาทต่อหุ้น เพิ่งมาพุ่งขึ้นเกิน 12 บาท ในไตรมาสที่ผ่านมา ลักษณะเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าการเข้าซื้อกิจการทำให้สินทรัพย์เพิ่มขึ้นในระดับที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้สิน (การซื้อกิจการผลิต PET resin ในสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก มีผลสมบูรณ์ในไตรมาส 2011Q1 เป็นการเปิดตลาดในอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง ดีลนี้เองที่ทำให้ IVL กลายเป็นผู้ผลิต PET resin ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากเริ่มผลิตสินค้าได้ทันทีหลังการซื้อกิจการมีผลสมบูรณ์)

กราฟมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) รายไตรมาสของ IVL ซึ่งค่า NAV ณ สิ้นไตรมาสล่าสุดเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% หลังเข้าซื้อกิจการในสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก

เมื่อพิจารณาว่าการดำเนินกิจการของ IVL มีเงินสดในส่วนที่เป็นกำไรตกทอดมาถึงผู้ถือหุ้นไหลเข้า-ออกอย่างไร (ไม่ใช่ปันผล แต่เป็นมูลค่าที่สะสมอยู่ในกิจการ) จากข้อมูลในตารางข้างบนพบว่า กำไรของผู้ถือหุ้น (Owner's earning) ในปี 2008 มีค่าลดลง (เงินไหลออก) แต่หลังจากนั้นเป็นเงินไหลเข้ากิจการโดยตลอด มากบ้างน้อยบ้างสลับกันไป เพื่อให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกำไรของผู้ถือหุ้น เราจะเปลี่ยนไปแสดงตัวเลขปัจจัยพื้นฐานที่สกัดได้จากงบการเงินไปเป็นแบบสะสมโดยเริ่มนับตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งเป็นข้อมูลเก่าแก่ที่สุดที่เรามีเป็นต้นมาดังแสดงในตารางข้างล่าง และถ้าแปลงข้อมูลตัวเลขมาแสดงให้ดูง่ายขึ้นในรูปของกราฟ จะได้ผลลัพธ์ดังต่อไปนี้

(คลิกภาพเพื่อขยาย)

กราฟแสดงมูลค่าสะสมของกำไรสุทธิของ IVL นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา พบว่าในระหว่างปี 2009-2010 มีการสะสมกำไรสุทธิด้วยอัตราเฉลี่ย 0.54 บาทต่อไตรมาส และมีการสะสมมูลค่าด้วยอัตราเร่งสูงขึ้นอีกในไตรมาส 2011Q1

กราฟแสดงกำไรสุทธิสะสมคิดเป็นเปอร์เซนต์เทียบกับรายได้สะสมของ IVL พบว่ากำไรสุทธิสะสมเทียบเป็นสัดส่วนกับรายได้สะสมมีค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก 5.52% ในปี 2008 มาเป็น 10.33% ในไตรมาสล่าสุด หมายความว่า ในรายได้ที่หามาได้นั้น มีกำไรสุทธิปนอยู่เข้มข้นขึ้นทุกที

กราฟแสดงกำไรของ IVL ที่ตกทอดไปยังผู้ถือหุ้นในรูปมูลค่าซึ่งสะสมไว้ในกิจการ ซึ่งตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมามีการสะสมเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 0.44 บาทต่อไตรมาส

กราฟแสดงกำไรของผู้ถือหุ้นสะสมที่ตกทอดไปยังผู้ถือหุ้นคิดเป็นเปอร์เซนต์เทียบกับรายได้สะสมของ IVL พบว่ากำไรของผู้ถือหุ้นสะสมเทียบเป็นสัดส่วนกับรายได้สะสมมีค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงปี 2009 เป็นต้นมา จาก 2.09% มาเป็น 4.05% ในไตรมาสล่าสุด

ในทำนองเดียวกันกับการมองสัดส่วนของกำไรของผู้ถือหุ้นว่าเป็นกี่เปอร์เซนต์ของรายได้ที่เข้ามา (ค่าตัวเลขยิ่งมากยิ่งดี) ถ้าเรามองประสิทธิภาพของกิจการ ด้วยคำถามที่ว่า ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา กำไรของผู้ถือหุ้นที่ได้สร้างสมไว้ในบริษัทคิดเป็นกี่เท่าของมูลค่าลงทุนในที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์รวมทั้งหมด ถ้าได้กำไรของผู้ถือหุ้นมากแต่ลงทุนในที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์น้อยกว่า ก็แสดงว่ากิจการมีประสิทธิภาพ หรือมีการประหยัดจากขนาดมากกว่า (economy of scale) คำว่าการประหยัดจากขนาดในที่นี้ใช้ในความหมายว่ามีการใช้ทรัพยากรประเภทที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ในการผลิตและจำหน่ายสินค้า/บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงไรเมื่อเทียบกับกำไรที่ตกทอดมายังผู้ถือหุ้น (เอา owner's earning ตั้ง แล้วหารด้วย capital expenditures) ทำให้ประเมินได้ต่อไปว่าถ้าต้องขยายกิจการเพื่อให้ได้กำไรมากขึ้นจะต้องลงทุนซื้อที่ดิน สร้างอาคาร หรือซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์เพิ่มขึ้นอีกมากน้อยเพียงไร ซึ่งค่า cumulative economy of scale ในความหมายนี้ของ IVL มีความเป็นมาดังกราฟข้างล่าง


เมื่อมองในมุมนี้จะเห็นได้ว่าในช่วงปี 2009 เป็นต้นมา การใช้ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ เทียบเป็นสัดส่วนกับกำไรของผู้ถือหุ้นที่สร้างได้ มีค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก 33% ไปเป็น 88% ในไตรมาสล่าสุด (ใช้ที่ดิน อาคาร และเครื่องจักรอุปกรณ์มูลค่า 100 บาท สร้างกำไรของผู้ถือหุ้นมูลค่า 88 บาท) ถ้าพิจารณาค่า cumulative economy of scale ของ 2 ไตรมาสล่าสุด พบว่ามีค่าเท่ากัน ตรงนี้เป็นไปได้สองทางคือ
  • การซื้อกิจการซึ่งสำเร็จสมบูรณ์ในไตรมาส 2011Q1 นั้น ยังไม่ส่งผลดีในแง่ที่เป็นการปรับปรุง cumulative economy of scale ให้สูงขึ้น แม้ว่าจะได้ส่งผลให้เห็นในกำไรสุทธิ รายได้ และมูลค่าสินทรัพย์สุทธิแล้วอย่างชัดเจน
  • หรืออาจตีความไปอีกทางหนึ่งว่า สินทรัพย์ที่ได้จากการซื้อกิจการมีมูลค่ามากกว่าเงินที่จ่ายไป ทำให้เกิดรายได้ส่วนเกินขึ้นมา แต่รายได้ส่วนเกินนี้ไม่ใช่เงินสดที่รับจริง เป็นแต่เพียงมูลค่าของสินทรัพย์เท่านั้น จึงปรากฎในรายได้และกำไรสุทธิ แต่ไม่ปรากฎใน cumulative owner's earning และ cumulative economy of scale เพราะสองปัจจัยหลังนี้ใช้เงินสดที่ไหลเข้าออกจริง ๆ มาคำนวณ
ถ้าเป็นไปตามสมมุติฐานแรก เราคงจะต้องเฝ้าดูต่อไปว่า เมื่อผลประกอบการของไตรมาส 2011Q2 ออกมาแล้ว ผลของการซื้อกิจการจะส่งผลมาปรับปรุงค่า cumulative economy of scale ให้ดีขึ้นหรือไม่ เพียงไร ตามข้อมูลในเว็บไซต์ของบริษัท การเพิ่มกำลังการผลิตผ่านการซื้อกิจการและการสร้างโรงงานใหม่จะทยอยมีผลสมบูรณ์อย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2014 แต่ถ้าเป็นไปตามสมมุติฐานหลัง การที่รายได้และกำไรสุทธิพุ่งขึ้นไปแบบนั้นแสดงว่าเราถูกหลอกด้วยผลที่เกิดจากเทคนิคทางบัญชี แต่จะเห็นว่าเมื่อดูจาก cumulative owner's earning และ cumulative economy of scale จะไม่เห็นผลของรายการพิเศษนี้เลย คือเทคนิคทางบัญชีไม่สามารถหลอกเราได้นั่นเอง และนี่ก็ยังช่วยอธิบายต่อไปอีกว่าทำไม เมื่อประกาศผลประกอบการ 2011Q1 ออกมาสุดจ๊าบแจ่มแจ๋วอย่างนี้แล้ว ทำไมราคาหุ้นไม่สามารถผ่านแนวต้าน 55 บาทขึ้นไปได้แต่กลับพักฐานต่อ ก็เพราะรายใหญ่เขามองความจริงข้อนี้ออกเลยรอฐานแน่นก่อนไม่รีบไปต่อ สำหรับเรารายเล็ก ๆ ถึงมองด้วยตาเปล่าไม่ออก แต่ก็มองผ่านแว่น cumulative economy of scale ได้ครับ
จากข้อมูลในรูปแบบมูลค่าสะสมข้างต้น พูดได้ว่า ปัจจุบัน IVL มีรายได้สะสม 73.63 บาทต่อหุ้น ในรายได้ก้อนนี้คิดเป็นกำไรสุทธิสะสม 7.60 บาท หรือ 10.32% ของรายได้ ในกำไรสุทธิก้อนนี้ ได้ตกทอดไปเป็นมูลค่ากำไรของผู้ถือหุ้นที่สะสมอยู่ในกิจการ 2.98 บาท หรือ 4.05% ของรายได้ กำไรของผู้ถือหุ้นก้อนนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการใช้ทรัพยากรที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ มูลค่า 3.40 บาท เท่ากับว่ามีการประหยัดจากขนาด 88%

ถ้านำเอาการเติบโตของกำไรสุทธิรายไตรมาสที่คำนวณได้ไปเติมลงในกราฟราคาหุ้นรายสัปดาห์ของ IVL จะได้ผลดังภาพต่อไปนี้

(คลิกเพื่อขยายภาพ)

จากกราฟราคาหุ้นจะเห็นได้ว่าราคาหุ้น IVL ได้ไต่ระดับขึ้นมาอย่างรวดเร็วตั้งแต่เริ่มเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้เป็นเพราะก่อนหน้าการจดทะเบียน IVL ได้มีการนำบริษัทลูกคือ Indorama Polymers หรือ IRP เข้าจดทะเบียนมาก่อนแล้วนับตั้งแต่ปี 2005 และราคาหุ้นของ IRP ก็ไต่ระดับขึ้นอย่างต่อเนื่องมาก่อนแล้ว เมื่อจะนำบริษัทแม่เข้าตลาด จึงได้ถอนลูกออกไป จากข้อมูลงบการเงินเท่าที่มีพบว่า ราคาหุ้นเริ่มวิ่งแรงหลังจากผลประกอบการไตรมาส 2010Q3 ออกมามีกำไรเติบโต 209.90% ทำให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปมากกว่า 150% ภายในช่วงเวลาไตรมาสเดียว จากนั้นจึงเริ่มส่งสัญญาณพักเหนื่อย ช่วงจังหวะนี้เองได้มีการเพิ่มทุนโดยออกวอแรนต์ระยะสั้นแบบ TSR ออกมา พร้อมกับการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มผู้บริหารลงเหลือเพียง 66% เพื่อกระจายให้นักลงทุนสถาบันอื่น ๆ สร้างความหวาดระแวงให้ผู้ถือหุ้นเป็นอย่างมาก ทำให้ผลประกอบการไตรมาส 2010Q4 ที่มีกำไรสุทธิเติบโตเพิ่มขึ้นไปอีก 99.18% ไม่ช่วยอะไรเลย เหตุการณ์นี้จึงทำให้หุ้น IVL มีโอกาสได้หยุดพักสะสมพลังอย่างจริงจังโดยการปรับฐานลงมาจาก จุดสูงสุดประมาณ 46% ไปทำจุดต่ำสุดที่ประมาณ 36.50 บาทใกล้เคียงกับราคาใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนระยะสั้นพอดี ในแง่เทคนิค ระดับราคานี้เป็นเส้นค่าเฉลี่ย 25 สัปดาห์ พอดีเช่นกัน ณ ระดับราคานี้ ค่า RSI ของ IVL ได้ลดระดับลงเหลือ 50% แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นพร้อมราคาหุ้นซึ่งไต่ระดับกลับขึ้นไปถึงระดับประมาณ 55.00 บาท แต่ไม่สามารถผ่านเลยไปไกลกว่านี้ได้จึงปรับลงอีกครั้ง ณ บริเวณนี้มีผลประกอบการไตรมาสล่าสุดคือ 2011Q1 ออกมามีกำไรโตขึ้นอีกถึง 470.91% ตอกย้ำว่าพื้นฐานของ IVL ยังคงแข็งแกร่งดีอยู่ เมื่อลากแนวเส้นตรงเชื่อมระดับแนวต้านครั้งที่แล้วประมาณ 61.50 บาท กับระดับแนวต้านครั้งนี้ที่ประมาณ 55 บาท พบว่า ระดับความลึกการพักฐานที่ 36.50 บาทนั้น ต่ำกว่าเส้นแนวโน้มนี้อยู่ (60.00-36.50) = 23.50 บาท เมื่อราคาหุ้นไม่สามารถผ่านแนวต้านขึ้นไปได้เป็นครั้งที่ 2 จึงตกลงไปสร้างแนวรับใหม่ที่ระดับ 42.75 บาท ซึ่งสูงขึ้นกว่าแนวรับเดิมที่ระดับ 36.50 บาท จากกราฟข้างบนจะเห็นได้ว่า ระดับแนวรับใหม่นี้ตรงกับเส้นค่าเฉลี่ย 50 สัปดาห์พอดี ในขณะเดียวกัน ค่า RSI ก็ลดระดับลงมาแตะ 50% แล้วเด้งขึ้นไปใหม่อีกครั้ง จากลักษณะการพักฐานของ IVL ที่กล่าวมา และกราฟ cumulative economy of scale ข้างบน ผมคาดว่าเมื่อ IVL ประกาศผลประกอบการไตรมาส 2011Q2 ออกมาในทางบวก ราคาหุ้นจะสามารถทะลุแนวต้านที่ระดับ 55.00 บาทไปได้ และน่าจะสามารถไปได้ไกลถึงระดับ (55.00+23.50) = 78.50 บาทเป็นอย่างน้อย ส่วนจะไปถึงจุดนั้นเมื่อไร ไม่สามารถบอกได้ครับ

ต่อไปผมพิจารณาคุณค่าของหุ้น IVL ในแง่ของราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) และราคาต่อกำไรต่อมูลค่าทางบัญชี (P/B) โดยใช้ข้อมูลดังนี้
  • กำไรต่อหุ้น (Earning) คิดเป็นรายปี โดยรวมกำไรต่อหุ้นของ 4 ไตรมาส (12 เดือน) ล่าสุด หรือที่เรียกว่า trailing twelve month (ttm) จาก 2010Q2-2011Q1 ได้ 4.47 บาทต่อหุ้น
  • มูลค่าทางบัญชี = มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (ไตรมาสล่าสุด) ได้ 12.73 บาท
กำหนดราคาหุ้นในช่วง 35 ถึง 70 บาท จะได้ข้อมูลคุณค่าหุ้นเบื้องต้นดังนี้

                                (คลิกเพื่อขยายภาพ)

ราคาหุ้น IVL ในปัจจุบันอยู่ที่ 47.25 บาท คิดเป็น P/B 3.74 เท่า P/E 10.63 เท่า เทียบได้กับการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ดอกเบี้ย 9.44% นับว่าเป็นระดับที่เหมาะสม มีเหตุผลดี (PE ต่ำกว่า SET) ถ้าราคาหุ้นจะขึ้นไปถึง 60 บาท ผมคิดว่า P/B และ P/E ก็ยังไม่น่าเกลียดนักสำหรับหุ้นโตเร็ว ถ้าใช้ราคาเป้าหมายที่ผมคาดไว้ที่ประมาณ 78.50 บาท จะมี margin of safety = (78.50-47.25) = 31.25 บาท หรือ 66% จากราคาปัจจุบัน ซึ่งมากทีเดียว พิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานที่ได้จากการชำแหละหุ้น IVL ในครั้งนี้ ผมคิดว่าพื้นฐานของหุ้นแข็งแกร่งจริง มีการประหยัดจากขนาดค่อนข้างมากจริงตามที่ผู้บริหารให้สัมภาษณ์เอาไว้ ระดับราคาหุ้นในปัจจุบันอยู่ที่ระดับเหมาะสมในการเข้าลงทุนคือมี up side 66% แต่เพื่อความเีสี่ยงที่น้อยลงไปอีก ท่านนักลงทุนสามารถรอให้ราคาหุ้นทะลุผ่านแนวต้าน 55.00 บาทขึ้นไปก่อนก็ได้ แต่ margin of safety จะลดลงเหลือเพียง (78.50-55.00) = 23.50 บาท หรือ 43% ซึ่งก็ยังถือว่ามากโขอยู่เหมือนกันครับ ในระหว่างที่ราคาหุ้น IVL เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ในแต่ละไตรมาสที่ผ่านไป เรายังคงต้องติดตามค่ากำไรของผู้ถือหุ้นสะสม และการประหยัดจากขนาดสะสมต่อไป

สุดท้ายผมลองส่องให้เห็นภาพที่ทุกคนไม่อยากให้เกิด ด้วยคำถามที่ว่า ถ้า IVL เกิดเจ๊งขึ้นมาตอนนี้ ผู้ถือหุ้นจะได้เงินคืนเท่าไร ? สมมุติว่าหุ้นทั้งหมดของ IVL เป็นหุ้นสามัญ ถ้าบริษัทเลิกกิจการ ขายสินทรัพย์และชำระหนี้ทั้งหมดที่มีอยู่ แล้วเอาเงินสดที่เหลืออยู่จ่ายคืนผู้ถือหุ้น การดำเนินการดังกล่าวเขียนเป็นสมการได้ว่า สินทรัพย์ - หนี้สิน = ส่วนของผู้ถือหุ้น = มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) = มูลค่าทางบัญชี (book value) จากตารางข้างบน ปัจจุบันกิจการมี NAV หุ้นละ 12.73 บาท ดังนั้นอย่างน้อยเราจะได้เงินคืน 12.73 บาทต่อหุ้นครับ

============================================================

ติดตาม "ลงทุนหุ้นไทย" ที่ facebook.com/thstockinvest twitter.com/thstockinvest

เรียนรู้การดูกราฟหุ้นทางเทคนิคได้ที่ Free Stock Technical Analysis Tutorial

หาเพื่อนนักลงทุนในกลุ่มสนทนา  ชำแหละพื้นฐานหุ้น

Monday, June 6, 2011

แนะนำหนังสือดี "เศรษฐศาสตร์แห่งความจริง"

          โพสต์นี้ ผมขอแนะนำหนังสือไว้สักเล่มหนึึ่ง สำหรับนักลงทุนที่ชอบการชำแหละหุ้นเพื่อค้นหาอะไรที่ซ้อนอยู่เบื้องหลังสิ่งที่เรามองเห็นอย่างผิวเผินจากภายนอก  ท่านที่รู้ตัวว่าชอบคล้อยตามคำแนะนำหุ้นเด็ด ๆ ได้อย่างง่ายดาย จนขาดทุนบักโกรกน่าจะลองหาเล่มนี้มาอ่านดูบ้างนะครับ กระตุกให้เราฉุกคิดในเรื่องการลงทุนได้อย่างเหลือเชื่อ เรื่องของผมกับหนังสือที่จะแนะนำมีความเป็นมาอย่างนี้ครับ คือเมื่อประมาณ 1-2 ปีที่แล้วผมดูรายการ Smart Planning ทาง Money Channel โดยพิธีกร MJ เหมี่ยว ชนิดา  ประสมสุข สัมภาษณ์คุณพิชัย จาวลา ผู้แต่งหนังสือ เศรษฐศาสตร์แห่งความจริง พอจบรายการผมรีบไปร้านหนังสือเพื่อซื้อมาอ่านในรายละเอียด พบว่าไม่มีขายเลยครับ ตามหาอยู่นาน สุดท้ายไปพบที่ศูนย์หนังสือในธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต อ่านแล้วเห็นอะไรที่คนอื่นไม่เห็นครับ มีคนบอกว่า หุ้นตัวนั้นดี ตัวนี้ก็เจ๋ง ผมจะไม่เชื่อง่าย ๆ เป็นที่มาของการที่ผมต้องทำการชำแหละให้เห็นกับตาว่า ดีอย่างเขาว่าจริงหรือเปล่า และเมื่อเข้าลงทุนจะไม่ผลีผลามเข้าไปด้วยความโลภและการมองโลกในแง่ดีเข้าข้างตัวเองอย่างที่เคยทำมาในอดีต วันนี้ผมมาพบวีดีโอรายการดังกล่าวใน YouTube เลยเก็บมาฝากไว้ให้นักลงทุนลองฟังดู น่าจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ ก่อนไปดูวีดีโอข้างล่าง ผมขออัญเชิญข้อความใน เกสปุตตสูตร มาให้ท่านพิจารณา ก่อนจะเชื่อผม หรือเชื่อวีดีโอดังนี้ครับ

๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙


          สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมของพวกกาลามะชื่อว่า เกสปุตตะ พวกชนกาลามโคตร ชาวเกสปุตตนิคมได้สดับข่าวมาว่า พระสมณโคดมศากยบุตรทรงผนวชจากศากยสกุลแล้ว เสด็จมาถึงเกสปุตตนิคมโดยลำดับ ... ครั้งนั้น ชนกาลามโคตร ชาวเกสปุตตนิคมได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ ... กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม สมณพราหมณ์พวกนั้น พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตัวเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า มีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม ถึงพราหมณ์พวกนั้น ก็พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตนเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยในสมณพราหมณ์เหล่านั้นอยู่ทีเดียวว่า ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็ควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลงสงสัย และท่านทั้งหลายเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในฐานะที่ควรแล้ว มาเถิดท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย
  • อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา
  • อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบๆ กันมา 
  • อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่า ได้ยินอย่างนี้ 
  • อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา 
  • อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง 
  • อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน 
  • อย่าได้ยึดถือโดยความตรึกตามอาการ 
  • อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว 
  • อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ 
  • อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา 
เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้วเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์  เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย ...


[ เกสปุตตสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต สูตรที่ ๕๐๕ (๖๖) ]

๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙

วีดีโอ เศรษฐศาสตร์แห่งความจริง ตอนที่ 1 of 2



วีดีโอ เศรษฐศาสตร์แห่งความจริง ตอนที่ 2 of 2




ติดตาม "ลงทุนหุ้นไทย" ที่    facebook.com/thstockinvest    twitter.com/thstockinvest 

เรียนรู้การดูกราฟหุ้นทางเทคนิคได้ที่ Free Stock Technical Analysis Tutorial

หาเพื่อนนักลงทุนในกลุ่มสนทนา  ชำแหละพื้นฐานหุ้น

Thursday, June 2, 2011

ชำแหละดูหุ้น MCS ยังมีศักยภาพไปต่อได้หรือไม่ ?

          ในโพสต์ก่อนหน้านี้ผมได้กล่าวถึงความน่าสนใจของหุ้น MCS เมื่อมองจากมุมของสัญญาณ MACD รายเดือน (คลิกที่นี่เพื่อย้อนไปอ่าน) อย่างที่ผมได้ย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า ถ้ายังไม่ชำแหละหุ้นดูข้างในให้กระจ่างชัดเสียก่อน อย่างเพิ่งรีบร้อนลงทุน ในโพต์นี้ผมจะนำภาพที่ซ่อนอยู่ในงบการเงินของหุ้น M.C.S. Steel มาเปิดให้ดูกันชัด ๆ ครับ ข้อมูลหลายอย่างเมื่ออยู่ในรูปตัวเลขแล้ว เฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์ลงทุนสูง ๆ ระดับเซียนหุ้นเท่านั้นที่จะนึกภาพออกทันที แต่ถ้าเราเปลี่ยนมาแสดงข้อมูลด้วยกราฟแทน แม้มือสมัครเล่นก็เข้าใจได้ว่าอะไรเป็นอะไร นี่คือประโยชน์ของการชำแหละหุ้นที่ผมอยากแบ่งปันกับนักลงทุนทั้งหลายซึ่งโดยมากจะเป็นมือสมัครเล่นครับ


รู้จักกิจการ


          เริ่มจากการทำความรู้จักกับกิจการก่อนครับ ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ MCS บอกว่า กิจการนี้ตั้งอยู่ที่อยุธยา เป็นผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างสำหรับตึกสูง โรงงาน สะพาน และงานก่อสร้างทั่วไป เพื่อส่งให้ผู้รับเหมาก่อสร้างญี่ปุ่น 3 รายใหญ่ ผ่านบริษัทลูกในญี่ปุ่น ดูจากรายการเครื่องจักรของโรงงานสรุปง่าย ๆ ว่าเป็นการตัด เจาะ ดัด เชื่อม ขึ้นรูป ชิ้นเหล็กให้อยู่ในรูปร่างและขนาดพร้อมใช้ในการก่อสร้าง (steel fabrication) เพื่อที่ว่าผู้รับเหมาะจะได้นำไปใช้ได้ทันทีไม่ต้องทำเองที่หน้างาน
          ต่อไปดูแนวโน้มกรอบใหญ่ของราคาหุ้นด้วยกราฟรายเดือนย้อนหลัง 5 ปี ดังภาพข้างล่าง พบว่า หุ้นอยู่ในขาขึ้นระยะยาวอย่างชัดเจน โดยมีจุดยืนยันแนวโน้มขาขึ้นระยะยาวเป็นจุดที่กราฟฮิสโตแกรม MACD ตัดแกนศูนย์จากด้านลบขึ้นไปด้านบวก เมื่อกลางปี 2009 พร้อมกับการที่ราคาหุ้นตัดผ่านเส้นค่าเฉลี่ย 25 เดือนขึ้นไปได้  ในช่วงเดียวกันนี้ สัญญาณ RSI ได้ตัดผ่านเส้น 50% ขึ้นไปเช่นกัน (สัญญาณเหล่านี้ได้ช่วยกันยืนยันการฟื้นตัวอย่างพร้อมเพรียง) จากจุดนั้นเป็นต้นมาราคาหุ้นได้ไต่ระดับขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเกิดสัญญาณยืนยันแนวโน้มขาขึ้นครั้งที่สองโดยมี SMA25M ตัดกับ SMA50M แบบขาขึ้น เมื่อกลางปี 2010 ราคาหุ้นจึงหยุดพักฐานอยู่ 7 เดือนที่ราคาบริเวณ 10 บาท ในช่วง 2 -3 เดือนที่่ผ่านมาราคาหุ้นพยายามไต่ระดับขึ้นไปสู่ระดับใหม่ แต่ดูเหมือนว่าจะยังคงย่ำเท้าอยู่แถว ๆ 10-12 บาทไปอีกระยะหนึ่ง จากกราฟราคาหุ้นรายเดือนนี้ พบว่าการใช้กราฟ MACD รายเดือนเพื่อดูแนวโน้มราคาหุ้นในกรอบใหญ่ใช้ได้ดีกับหุ้น MCS เช่นเดียวกับตัวอื่น ๆ ที่ได้เคยชำแหละดูก่อนหน้านี้


                             (คลิกภาพเพื่อขยาย)

ชำแหละงบการเงิน


          เมื่อกราฟแนวโน้มของ MCS บ่งชี้ว่าหุ้นที่วิ่งมาแรงได้มีโอกาสพักเหนื่อย และกำลังอยู่ในช่วงปลาย ๆ ของการพักฐานแล้ว จึงชำแหละดูพื้นฐานของ MCS จากงบการเงินที่รวบรวมย้อนไปได้ไกลที่สุดถึงปี 2004 (กิจการก่อตั้งเมื่อ ปี 1992) เมื่อไม่ทราบข้อมูลของกิจการก่อนหน้านั้น จึงสมมุติข้อมูลปี 2004 เป็นข้อมูลเริ่มต้น ค่าตัวเลขต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยสะสม (cumulative) จึงเป็นตัวเลขที่เริ่มนับจากปี 2004 ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่จะแสดงแนวโน้มที่เป็นประโยชน์ในการประเมินศักยภาพของกิจการในอนาคตได้ดีพอสมควร ปัจจัยที่เราจะสกัดออกมาจากงบการเงินของกิจการได้แก่ กำไรสุทธิต่อหุ้น (earning per share: EPS) การเติบโตของกำไรต่อหุ้นเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY EPS growth) รายได้ต่อหุ้น (revenue per share) การเติบโตของรายได้ของกิจการ (YOY revenue growth) กำไรของผู้ถือหุ้น (owner's earning) มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (Net Asset Value) และการประหยัดจากขนาด (economy of scale) วิธีการคำนวณปัจจัยพื้นฐานดังกล่าวตลอดจนที่มาของข้อมูลจากส่วนต่าง ๆ ของงบการเงินสรุปได้ดังนี้
  • EPS หาได้จากการนำ กำไรสุทธิ (net income) หารด้วยจำนวนหุ้น โดยเอากำไรสุทธิมาจาก งบกำไร-ขาดทุน (income statements) และเอาจำนวนหุ้นมาจาก งบดุล (balance sheet)

  • การเติบโตของ EPS หาได้จากการเปรียบเทียบ EPS ของไตรมาสที่กำลังคำนวณ กับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือ
    100 x ( EPS ไตรมาสที่คำนวณ - EPS ไตรมาสปีก่อนหน้า) / EPS ไตรมาสปีก่อนหน้า
    เป็นเปอร์เซนต์

  • รายได้สุทธิต่อหุ้น หาได้จาก รายได้สุทธิ (total revenue) หารด้วยจำนวนหุ้น โดยเอารายได้สุทธิมาจาก งบกำไร-ขาดทุน (income statements)

  • การเติบโตของ รายได้สุทธิต่อหุ้น หาได้จากการเปรียบเทียบ รายได้สุทธิต่อหุ้น ของไตรมาสที่กำลังคำนวณ กับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือ
    100 x (รายได้ไตรมาสที่คำนวณ - รายได้ไตรมาสปีก่อนหน้า) / รายได้ไตรมาสปีก่อนหน้า
    เป็นเปอร์เซนต์

  • กำไรของผู้ถือหุ้น (owner's earning) เป็นเงินสุทธิที่ไหลเข้าบริษัทในรอบระยะเวลานั้นซึ่งหักค่าใช้จ่ายลงทุนเกี่ยวกับที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ออกไปแล้ว เปรียบเสมือนมูลค่ากำไรที่สะสมตกทอดมายังเจ้าของกิจการ (ผู้ถือหุ้น) กำไรของผู้ถือหุ้น อาจเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า กระแสเงินสดอิสระ (free cash flow) การคำนวณเริ่มจากการนำกระแสเงินสดที่ได้รับจากการดำเนินงาน (operating cash flow) หักออกด้วยค่าใช้จ่ายลงทุนใน ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ (capital expenditures) ที่จำเป็นต้องใช้ในการรักษาสถานะของกิจการให้คงอยู่ต่อไป

    สำหรับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหาได้จากงบกระแสเงินสด (cash flow statements) ในส่วน กระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน (cash flow from operating activities) ที่ระบุว่า เงินสดที่ได้รับเข้ามาจากกิจกรรมการดำเนินงาน (net cash obtained from operating activities)

    ส่วนค่าใช้จ่ายลงทุนเพื่อรักษาสถานะของกิจการหาได้จากงบกระแสเงินสด (cash flow statements) ในส่วน กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน (cash flow from investing activities) ที่ระบุว่าเป็นเงินสดจ่ายเพื่อซื้อที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ (cash paid for acquisition of property, plant and equipment)

    โดยสรุป owner's earning  = free cash flow =
    [cash obtained from operation] -[ cash paid for acquisition of property, plant and equipment]

  • การประหยัดจากขนาด (economy of scale) หมายถึง กำไรของผู้ถือหุ้นที่กิจการได้รับต่อปริมาณเงินลงทุนที่ใช้ไปในการซื้อที่ดิน อาคารและอุปกรณ์  กิจการที่ใช้สร้างกำไรของผู้ถือหุ้นได้มากโดยใช้เงินลงทุนในที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์น้อย ๆ ถือเป็นกิจการที่มีการประหยัดจากขนาด เปรียบกิจการแบบนี้เหมือนเป็นเครื่องปั๊มเงิน เราแค่ป้อนวัตถุดิบคือ กระดาษ หมึกพิมพ์ และไฟฟ้าเข้าไป เครื่องก็จะพ่นธนบัตรออกมา ในฐานะเจ้าของเครื่องปั๊มเงิน เราย่อมอยากได้เครื่องปั๊มเงินที่กินไฟน้อย ใช้กระดาษ และหมึกพิมพ์อย่างประหยัดที่สุด แต่พ่นธนบัตรออกมามากที่สุด ดังนั้นตัวเลขการประหยัดจากขนาดที่ได้จากการคำนวณแบบนี้ ยิ่งเป็นตัวเลขที่มาก ยิ่งดี

  • มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ต่อหุ้น คือ สินทรัพย์ลบด้วยหนี้สิน หารด้วยจำนวนหุ้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มูลค่าทางบัญชีของกิจการ (book value) สินทรัพย์สุทธิ และหนี้สินสุทธิ เอามาจากงบดุล  (balance sheet)
การสกัดข้อมูลจากงบการเงินรายไตรมาสของ MCS ได้ผลดังตารางต่อไปนี้


                               (คลิกภาพเพื่อขยาย)

พิจารณาข้อมูลกำไรสุทธิของ MCS พบว่า กิจการมีกำไรมาตลอดทุกไตรมาสนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรับเมื่อปี 2005 และเมื่อเปรียบเทียบกำไรสุทธิของไตรมาสใด ๆ กับกำไรสุทธิของไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YOY) แล้วลงสีเป็นจุดสังเกต ถ้ากำไรเติบโตเป็นลบ ลงสีแดง ถ้ากำไรเติบโตเป็นบวกในระดับประมาณ 20% ขึ้นไป ลงสีเขียว จะเห็นได้ว่าตลอดปี 2009 และครึ่งแรกของปี 2010 กำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องในช่วง 19% - 132% ในช่วงดังกล่าว ราคาหุ้นก็เติบโตต่อเนื่องไปในลักษณะเดียวกัน
          ในช่วงครึ่งหลังของปี 2010 จนมาถึงปัจจุบัน กำไรสุทธิของ MCS มีการหดตัวและเติบโตสลับกัน ไม่ได้เติบโตต่อเนื่องเหมือนช่วงก่อนหน้า ทำให้ราคาหุ้นหยุดวิ่งและพักเอาแรงนับแต่นั้นมา เมื่อพิจารณาการเติบโตของรายได้ โดยลงสีเป็นจุดสังเกตด้วยเกณฑ์เดียวกันกับการเติบโตของกำไรสุทธิ พบว่ามีลักษณะล้อกันไปกับลักษณะการเติบโตและหดตัวของกำไรสุทธิ และมักจะมีสัญญาณการชะลอตัวแสดงออกมาที่การเติบโตของรายได้ก่อนหน้ากำไรสุืทธิเล็กน้อยเช่น ในไตรมาส 2009Q4 กำไรสุทธิเติบโต 132.16% แต่รายได้เติบโตเพียง 4.63% โดยลดลงมาจากระดับที่มากกว่า 20% ของสี่ไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนออกมาว่ากำไรจะโตน้อยลงในไตรมาสที่จะตามมา  นับตั้งแต่ไตรมาส 2010Q1 รายได้เริ่มหดตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ จาก -4.56% ไปเป็น -29.37% และ -69.40% ตามลำดับ ทำให้กำไรสุทธิมีการเติบโตน้อยลงเรื่อย ๆ จนหดตัวลงในไตรมาส 2010Q3 ที่หดตัวถึง -65.28% อย่างไรก็ตามตั้งแต่ไตรมาส 2010Q4 เป็นต้นมา การหดตัวของรายได้เริ่มมีความรุนแรงน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งเราต้องติดตามต่อไปเมื่อมีการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2011Q2 ออกมา ว่าการหดตัวน้อยลงดังกล่าวจะสามารถพลิกกลับเป็นการเติบโตได้ต่อไปหรือไม่
          จากข้อมูลในงบการเงินรายไตรมาส เมื่อนำตัวเลขสินทรัพย์ ลบออกด้วยหนี้สิน จะได้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) หรือมูลค่าทางบัญชี (book value) ของกิจการในแต่ละไตรมาส พบว่า สินทรัพย์สุทธิของกิจการมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากเจ้าของกิจการอาจจะใช้เทคนิคทางบัญชีทำให้มูลค่าทางบัญชีออกมาดูดีหลอกนักลงทุนให้เชื่อได้ไม่ยาก ดังนั้นผมจะพิจารณาการตกทอดของกำไรสุทธิ มายังผู้ถือหุ้นในรูป "กำไรของผู้ถือหุ้น หรือ owner's earning" (ไม่ใช่เงินปันผล) ที่สะสมอยู่ในกิจการ โดยหักค่าใช้จ่ายลงทุนที่ใช้ในที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ (capital expenditures) ออกแล้วซึ่งต้องใช้กระแสเงินสดที่ไหลเข้าิิออกจากกิจการมาพิจารณาแทนสินทรัพย์และหนี้สิน ซึ่งเจ้าของกิจการจะดัดแปลงบัญชีให้ดูดีได้ยากกว่ามาก เมื่อพิจารณาในแนวทางนี้จะพบว่า กิจการให้กำเนิดกำไรของผู้ถือหุ้นเป็นบวก สลับเป็นช่วง ๆ กับกำไรของผู้ถือหุ้นเป็นลบ โดยช่วงที่เป็นบวกมีค่าตัวเลขและจำนวนไตรมาสมากกว่าช่วงที่เป็นลบ หมายความว่ากำไรของผู้ถือหุ้นมีการเติบโตสะสมในกิจการแบบเพิ่มขึ้นเป็นขยัก ๆ (ตามฤดูกาล เช่น หน้าฝนงานก่อสร้างมีความล่าช้ากว่าหน้าแล้ง) อย่างที่เกริ่นไว้ตอนแรก ถ้าเราดูข้อมูลที่กล่าวมาในรูปกราฟจะได้ภาพที่เห็นแนวโน้มได้ง่ายขึ้นดังกราฟต่อไปนี้ 


กราฟกำไรสุทธิของ MCS แสดงแนวโน้มและอิทธิพลของฤดูกาลอย่างชัดเจน กำไรสุทธิในช่วงหลัง ๆ มีความผันผวนสูงมาก


กราฟอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิของ MCS (%YOY) แสดงการเติบโตมากกว่าการถดถอย


กราฟรายได้ของ MCS แสดงอิทธิพลของฤดูกาลอย่างชัดเจน


กราฟอัตราการเติบโตของรายได้ของ MCS (%YOY)  แสดงการเติบโตมากกว่าการถดถอย


กราฟมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ หรือมูลค่าทางบัญชี ของ MCS แสดงการเพิ่มมูลค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราประมาณ 0.11 บาทต่อไตรมาส
          ในการแปลความหมายของปัจจัยพื้นฐานที่สกัดได้จากงบการเงินนั้น ข้อมูลบางชนิดจะมีความหมายและเห็นแนวโน้มชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อพิจารณาในรูปแบบมูลค่าสะสมนับตั้งแต่ก่อตั้งกิจการเป็นต้นมา หรือพิจาณาย้อนกลับไปไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นในกรณีของ MCS ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานแบบสะสมที่สกัดได้จากงบการเงินจึงเป็นค่าที่เริ่มนับจากปี 2004 ซึ่งผมมีข้อมูลย้อนกลับไปได้ไกลที่สุดดังแสดงในตารางข้างล่าง
                          (คลิกภาพเพื่อขยาย)

ข้อมูลตัวเลขในตารางนำมาวาดเป็นกราฟได้ดังนี้


กราฟกำไรสุทธิสะสมที่ได้จากการประกอบกิจการนับตั้งแต่ปี 2004 แสดงกำไรสุทธิสะสมเพิ่มขึ้นในอัตรา 0.10 บาทต่อไตรมาสในช่วงปี 2004-2009Q3 และอัตรา 0.40 บาทต่อไตรมาสนับตั้งแต่ 2009Q4 -ปัจจุบัน


แต่เมื่อมองผลตอบแทนด้วยกราฟกำไรของผู้ถือหุ้นที่สะสมอยู่ในกิจการนับตั้งแต่ปี 2004 จะเห็นว่าการสะสมมูลค่าของกำไรของผู้ถือหุ้นมีลักษณะโตแล้วหยุดพักเป็นช่วง ๆ ด้วยแนวโน้มในทางเพิ่มขึ้น


ถ้าพิจารณามูลค่าของผลกำไรสะสมจากการประกอบกิจการในกรอบใหญ่โดยนับรวมตั้งแต่ปี 2004 เทียบกับรายได้สะสม พบว่า กำไรสุทธิสะสมเทียบกับรายได้สะสมมีค่า 8.4%  และได้เพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับจนถึง 14.42% ในปัจจุบัน


แต่หากว่าเรามองลึกลงไปอีกชั้นหนึ่งคือ มองผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น MCS ในรูปกำไรของผู้ถือหุ้นสะสมแทนที่จะมองเพียงกำไรสุทธิสะสม จะเห็นได้ว่าการประกอบกิจการในปี 2004 นั้นได้ก่อให้เกิดกำไรของผู้ถือหุ้นคิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้ หลังจากนั้นเป็นต้นมาอัตราส่วนกำไรของผู้ถือหุ้นสะสมต่อรายได้สะสมได้ลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือเพียง 5% ในไตรมาส 2007Q2 แล้วจึงเปลี่ยนแนวโน้มเป็นขาขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าการตกต่ำของกำไรของผู้ถือหุ้นสะสมเทียบกับรายได้สะสมนี้เองที่ทำให้ราคาหุ้นในช่วงนั้นแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย  แสดงว่ามีอะไรบางอย่างในการดำเนินกิจการที่ไม่ค่อยจะถูกต้องนัก และในเวลาต่อมาสิ่งนั้นได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง เป็นไปได้หรือไม่ว่านี่เป็นปัญหาเรื่องการลงทุนที่ล้มเหลวในกิจการผลิตปุ๋ยชีวภาพซึ่งได้ยกเลิกไปในเวลาต่อมา ?


ในทำนองเดียวกันกับการมองสัดส่วนของกำไรของผู้ถือหุ้นว่าเป็นกี่เปอร์เซนต์ของรายได้ที่เข้ามา (ค่าตัวเลขยิ่งมากยิ่งดี) ถ้าเรามองประสิทธิภาพของกิจการ ด้วยคำถามที่ว่า ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา กำไรของผู้ถือหุ้นที่ได้สร้างสมไว้ในบริษัทคิดเป็นกี่เท่าของมูลค่าลงทุนในที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์รวมทั้งหมด ถ้าได้กำไรของผู้ถือหุ้นมากแต่ลงทุนในที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์น้อยกว่า ก็แสดงว่ากิจการมีประสิทธิภาพ หรือมีการประหยัดจากขนาดมากกว่า (ค่าตัวเลขยิ่งมากยิ่งดี) เมื่อมองในมุมนี้จะเห็นได้ว่าในช่วงแรก ๆ หลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตัวเลขการประหยัดจากขนาดมีค่าลดลงเรื่อย ๆ จาก 5.38 เท่า ในปี 2004 ลงไปที่ 1.66 เท่า ในไตรมาส 2007Q2 จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน
          จากข้อมูลในรูปแบบมูลค่าสะสม พูดได้ว่า ปัจจุบัน MCS มีรายได้สะสม 42.91 บาทต่อหุ้น ในรายได้ก้อนนี้คิดเป็นกำไรสุทธิสะสม 6.19 บาท หรือ 14.42% ของรายได้ ในกำไรสุทธิก้อนนี้ ได้ตกทอดไปเป็นมูลค่ากำไรของผู้ถือหุ้นที่สะสมอยู่ในกิจการ 5.36 บาท หรือ 12.49% ของรายได้ กำไรของผู้ถือหุ้นก้อนนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการลงทุนซื้อที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ไป 1.17 บาท หรือมีการประหยัดจากขนาด 4.59 เท่า ถ้านำเอาการเติบโตของกำไรสุทธิรายไตรมาสที่คำนวณได้ไปเติมลงในกราฟราคาหุ้นในกรอบ 5 ปีของ MCS จะได้ผลดังภาพต่อไปนี้


                           (คลิกภาพเพื่อขยาย)

จากกราฟราคาหุ้นจะเห็นได้ว่าช่วงปลายปี 2006 ถึง กลางปี 2007 กำไรสุทธิมีการหดตัวอย่างต่อเนื่องทำให้ราคาหุ้นแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย หลังจากนั้น กำไรสุทธิเริ่มมีการเติบโตจนกระทั่งเติบโตอย่างโดดเด่นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2007 ต่อไตรมาสแรกของปี 2008 ในช่วงนี้ยังไม่มีข้อมูลตัวเลขที่สกัดจากงบการเงินใด ๆ เลยที่บ่งชี้ว่าจะเกิดปัญหากับกิจการ นอกจากบรรยากาศการเริ่มเข้าสู่กระบวนการล้มละลายของ Goldman Sachs ทั้งนี้เนื่องจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เพิ่งเริ่มเกิดและยังไม่ส่งผลมาปรากฎในงบการเงินของ MCS แต่อย่างใด ดังนั้นนักลงทุนที่มีประสบการณ์น้อยอาจจะเข้าซื้อ MCS ด้วยเหตุผลที่ว่ากิจการมีกำไรสุทธิเติบโตเกิน 100% ติดต่อกันสองไตรมาสโดยไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่กำลังคืบคลานเข้ามา ทำให้ต้องขาดทุนจากการที่ราคาหุ้น MCS ลดลงอย่างมากในครึ่งหลังของปี 2008 ซึ่งกำไรสุทธิหดตัว ไตรมาสละ 30.29% และ 5.42% ตามลำดับ หลังจากที่ผลของวิกฤตเศรษฐกิจปรากฎออกมาอย่างชัดเจนแล้ว กำไรสุทธิของ MCS ก็เริ่มเติบโตขึ้นอีกครั้ง และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 6 ไตรมาสต่อ ๆ มา พร้อม ๆ กันกับการฟื้นตัวของราคาหุ้นขึ้นมาจากจุดต่ำสุดเกือบ 5 เท่าตัว แล้วจึงมีการพักฐานโดยมีการหดตัวสลับกันกับการเติบโตของกำไรสุทธิในปัจจุบัน
          ในการมองหาหุ้นน่าลงทุนนั้น วอร์เรน  บัฟเฟตต์ แนะนำว่า อย่าสนใจแต่ค่ากำไรสุทธิต่อหุ้น หรือ EPS (earning per share) แต่ควรสนใจที่ อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ ROE (return on equity) ซึ่งมีความหมายว่า ถ้าผู้ถือหุ้นนำเงิน 100 บาทมาลงทุนในกิจการนี้ เมื่อครบ 1 ปี จะได้ผลตอบแทนเป็นกำไรเกิดขึ้นกี่บาท ดังนั้นค่า ROE จึงบ่งชี้ความสามารถในการสร้างกำไรให้กิจการด้วยทรัพยากรคือเงินลงทุนจากผู้ถือหุ้น หุ้นที่มี ROE สูงย่อมสะท้อนประสิทธิภาพของฝ่ายบริหารได้ดีกว่าค่ากำไรต่อหุ้น อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น หาได้จากการเอากำไรสุทธิ (EPS) รอบ 1 ปี หารด้วย ส่วนของผู้ถือหุ้น โดยที่ส่วนของผู้ถือหุ้น ก็คือ สินทรัพย์สุทธิ (Net Asset Value) หรือมูลค่าทางบัญชี (Book value) นั่นเอง 

ROE = EPS / NAV

กราฟข้างล่างแสดงค่า ROE ของหุ้น MCS จะเห็นว่ามีค่ามากกว่า 20 % มาตลอด และมีค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยในปีล่าสุด 2010 มี ROE 36.10 % หรือสามารถพูดได้ว่า ถ้าผู้ถือหุ้นนำเงินมาลงทุนในกิจการนี้ 100 บาท กิจการจะสร้างกำไรได้ 36.10 บาท นับว่าสูงมาก และน่าลงทุน




          สิ่งที่เราควรมองหาอีกอย่างหนึ่งคือความสามารถของผู้บริหารในการนำเงินกำไรที่เก็บไว้ในบริษัทไปทำให้งอกเงยจนราคาหุ้นเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ (เกิด capital gain) หากว่าผู้บริหารไม่สามารถทำให้เงินกำไรที่เก็บไว้ในกิจการงอกเงยมากกว่าเดิมได้ ก็ควรนำเงินส่วนนั้นมาปันผลคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น หรือนำไปซื้อหุ้นคืนเพื่อให้มูลค่ากิจการต่อหุ้นสูงขึ้น ดังนั้นประสิทธิภาพการใช้เงินกำไรซึ่งเก็บไว้ในกิจการไปสร้างมูลค่าหุ้นให้เพิ่มขึ้นนี้ จึงเป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่บอกเราว่า กิจการมีศักยภาพในการดันราคาหุ้นให้เพิ่มขึ้นไปได้มากน้อยเพียงใด การประเมินประสิทธิภาพการเพิ่มราคาหุ้นดังกล่าว มีสิ่งที่ต้องใช้ในการคำนวณดังนี้
  • ราคาหุ้นต้นงวด
  • กำไรสุทธิที่เกิดขึ้นในระหว่างงวด
  • เงินปันผลที่จ่ายออกไปในระหว่างงวด
  • กำไรที่เก็บไว้ใช้ในระหว่างงวด (retained earning) = กำไรสุทธิที่เกิดขึ้นในระหว่างงวด - เงินปันผลที่จ่ายออกไปในระหว่างงวด
  • ราคาหุ้นปลายงวด
ในกรณีของ MCS ราคาหุ้น ณ สิ้นปี 2006 เท่ากับ 3.74 บาท ระหว่างปี 2007-2010 MCS ทำกำไรได้ทั้งสิ้น 4.14 บาทต่อหุ้น ถ้า MCS ไม่จ่ายปันผลเลย  เงินกำไรทั้งหมดนี้ก็คือมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในกิจการระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้น ณ สิ้นปี 2010 ราคาหุ้นของ MCS ควรมีค่า 3.74 + 4.14 = 7.88 บาท แต่ MCS ได้จ่ายเงินปันผลออกไป 1.73 บาทต่อหุ้น เก็บไว้ใช้ในกิจการ 2.41 บาทต่อหุ้น ดังนั้นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในกิจการระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวจึงเหลือเพียง 2.41 บาทต่อหุ้น ทำให้ ณ สิ้นปี 2010 ราคาหุ้นของ MCS ควรมีค่า 3.74 + 2.41 = 6.15 บาทเท่านั้น แต่หลังจากจ่ายปันผลออกไป และเก็บเงินกำไร 2.41 บาทต่อหุ้นไว้ใช้ในกิจการแล้ว คณะผู้บริหารสามารถใช้เงินที่เก็บไว้ (retained earning) ในการทำให้ราคาหุ้นของ MCS ณ สิ้นปี 2010 กลายเป็น 9.90 บาท เพิ่มขึ้น (capital gain) 6.16 บาท หรืออาจกล่าวได้ว่า คณะผู้บริหารสามารถใช้เงินกำไร 1 บาทที่เก็บไว้เพื่อดันให้ราคาหุ้นขึ้นไปได้อีก 6.16/2.41 = 2.56 บาท นั่นเอง ค่าอัตราส่วนราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นต่อเงินกำไรที่เก็บไว้ในกิจการนี้ เรียกว่า retained earning employmentตารางข้างล่างแสดง retained earning employment ณ วันสิ้นสุด ปี 2007 ถึงปี 2010 ของหุ้น MCS ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้บริหารเพิ่งจะสามารถทำให้เงินกำไรที่เก็บไว้ในกิจการดันราคาหุ้นขึ้นไปอย่างมีนัยสำคัญได้ในปี 2010 ที่ผ่านมานี้เอง


                            (คลิกภาพเพื่อขยาย)


          จากการพิจารณาค่าปัจจัยที่สกัดได้จากงบการเงินเพื่อตอบคำถามว่า ราคาหุ้นของ MCS ยังคงมีศักยภาพในการเพิ่มค่าหลังจากการพักฐานรอบปัจจุบันขึ้นไปได้อีกหรือไม่ พบว่า กำไรสุทธิสะสมของ MCS ยังคงเพิ่มมูลค่าขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง และคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เมื่อพิจารณาลึกเข้าไปอีกจะพบว่า กำไรของผู้ถือหุ้นที่สะสมไว้ได้ในกิจการ และค่าการประหยัดจากขนาดยังคงมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะมีความผันผวนเป็นขยัก ๆ บ้าง ข้อมูลทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่า พื้นฐานของกิจการยังคงมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อไป การย่ำฐานของราคาหุ้นในปัจจุบันเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อสะสมอย่างไม่ต้องรีบร้อน


การประมาณมูลค่ากิจการแบบ discounted owner's earning (DOE)


ในการหามูลค่าที่ควรจะเป็นของหุ้น MCS นั้น เราจะใช้ข้อมูล กำไรของผู้ถือหุ้น หรือ owner's earning ในอดีตของ MCS เท่าที่มีอยู่มาทำการประมาณว่า ค่า owner's earning ของ MCS ในอนาคต 10 ปีต่อจากนี้ไปควรเป็นเช่นไร แล้วจึงแปลงมูลค่า owner's earning คาดหมายของแต่ละปีในอนาคตกลับมาเป็นมูลค่าในปัจจุบัน และพิจารณาว่าที่ราคาหุ้นขณะนี้ MCS ยังน่าสนใจลงทุนหรือไม่อย่างไร สมมุติเราเริ่มจากข้อมูล owner's earning รายไตรมาสของ MCS ตามตารางนี้


                       (คลิกภาพเพื่อขยาย)

จากตารางจะเห็นว่า owner's earning ที่ MCS ทำได้มีลักษณะไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงบวกลบสลับกันไปเป็นช่วง ๆ ทำให้คาดการณ์แนวโน้มได้ยาก ดังนั้นแทนที่จะดูข้อมูลแยกย่อยของแต่ละไตรมาส เราจะดูเป็นกำไรของผู้ถือหุ้นสะสมแทน ซึ่งจะทำให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกำไรของผู้ถือหุ้นได้ดีขึ้น ตารางและกราฟต่อไปนี้แสดงข้อมูลแบบสะสม


                            (คลิกภาพเพื่อขยาย)


จะสังเกตว่าเราสามารถมองเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของ owner's earning ได้ในกราฟซึ่งแม้ว่าจะมีการกระเพื่อมขึ้นลงแต่ยังคงประมาณได้ว่า owner's earning ในอนาคตควรเป็นอย่างไร ในการนี้เราจะใช้เทคนิคทางสถิติเข้าช่วย เรียกว่าเทคนิค regression ซึ่งมีหลักการว่า หากเรากำหนดสมการขึ้นมาสมการหนึ่งเพื่อแทนชุดข้อมูลในกราฟดังรูปข้างบน สมการนั้นจะต้องลากผ่านจุดข้อมูลให้ได้ภาพรวมที่ดีที่สุดที่จะใช้แทนข้อมูลทั้งชุด เมื่อได้สมการนี้แล้ว เราจะใช้สมการเป็นตัวทำนาย ค่า owner's earning สะสมของช่วง 10 ปีข้างหน้า แล้วรวมตัวเลขคาดหมายที่ได้เป็นแบบรายปีเพื่อเอาไปแปลงค่ากลับมาเป็นค่าปัจจุบันอีกที กระบวนการ regression สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยโปรแกรม excel ดังนี้
  1. กรอกข้อมูล cumulative owner's earning รายไตรมาสใน excel โดยให้คอลัมน์เป็นเลขจำนวนเต็มจาก 1 ขึ้นไป
  2. สร้างกราฟแบบ scatter จากข้อมูลที่กรอก โดยแสดงข้อมูลเป็นจุดไม่ต่อเนื่อง
  3. เพิ่ม trend line โดยใช้แบบ Polynomial กำลัง 2 และเลือก option ที่ให้แสดงค่าสมการและความมั่นใจ R2
จะได้กราฟดังรูปข้างล่างซึ่งเส้นแนวโน้มในกราฟคือ สมการ y = 0.0072x2 + 0.0329x + 0.838 และเราใช้สมการข้างต้นแทนชุดข้อมูล owner's earning รายไตรมาสของ MCS ได้ด้วยความมั่นใจ 90.69%

                             (คลิกภาพเพื่อขยาย)

เมื่อได้สมการของ cumulative owner's earning แล้ว จึงเอาไปทำนายค่าสำหรับไตรมาสต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตครอบคลุมไปถึงในอนาคต 10 ปีข้างหน้า ดังแสดงในกราฟข้างล่าง ซึ่งแกนนอนเป็นไตรมาสที่ แกนตั้งเป็น cumulative owner's earning เป็นได้ว่าเส้นกราฟสีเขียวสามารถใช้แทนข้อมูล cumulative owner's earning ได้ดีค่อนข้างดี



ต่อไปให้ใช้สมการ cumulative owner's earning (Q) = 0.0072Q^2 + 0.0329Q + 0.838 เพื่อหาค่า cumulative owner's earning ณ แต่ละไตรมาสในอนาคต 10 ปี แล้วแบ่งกลุ่มผลลัพธ์ที่ได้ออกเป็นกลุ่มละ 4 ไตรมาส เมื่อเอาค่าของไตรมาสสุดท้ายของแต่ละกลุ่มไปลบออกจากค่าของไตรมาสสุดท้ายของกลุ่มก่อนหน้า จะได้ค่าของ owner's earning ที่คาดว่าจะทำได้ในปีนั้น ออกมา ทำเช่นนี้จนครบ 10 ปี ในอนาคต



จุดข้อมูลในกราฟคือค่า owner's earning ที่ได้ออกมาทุก ๆ สี่ไตรมาส แต่แกนนอนในกราฟและในสมการยังคงเป็นไตรมาสที่อยู่ ดังนั้นจึงทำการคูณตลอดสมการด้วย 4 ทำให้ได้สมการของ owner's earning รายปีที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสำหรับหุ้น MCS คือ 


Estimated owner's earning (Y) = 0.2304Y + 0.0656 ; โดยที่ Y = 6 คือปีปัจจุบัน


เมื่อนำสมการนี้ไปทำนาย owner's earning ของ MCS ในช่วง 10 ปีข้างหน้า (Y = 7-16) จะได้กราฟเส้นสีเขียวดังรูปข้างล่าง ในกราฟนี้ จุดสีน้ำเงินคือข้อมูล owner's earning แบบ trailing twelve month ที่เกิดขึ้นแล้ว คือรวมกลุ่มไตรมาสทุกสี่ไตรมาสเข้าด้วยกันเป็นรายปี เริ่มจากไตรมาสล่าสุด (2011Q1) ย้อนหลังไป การใช้ข้อมูลรายปีแบบ trailing twelve month มีข้อดีคือผลประกอบการทุกไตรมาสที่ทยอยประกาศออกมาจะถูกนำมารวมเป็นข้อมูลรายปีใหม่ทุกครั้ง ทำให้ไม่ต้องรอครบทั้งปีก่อนจึงจะได้ข้อมูลรายปีออกมา ทำให้ตัดสินใจลงทุนได้อย่างทันท่วงทีกว่าการใช้ข้อมูลรายปีตามปฏิทิน



จากกราฟข้างบนจะเห็นว่าจุดข้อมูล owner's earning ปีล่าสุดของ MCS มีค่าติดลบ ทำให้การประมาณค่าของ owner's earning ในอนาคตมีความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป จุดข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงจะทยอยประกาศออกมา เมื่อทำการปรับสมการไปเรื่อย ๆ ความไม่แน่นอนที่มีอยู่มากในขณะนี้จะทยอยลดลงไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่มีอยู่และสมการที่เราหาได้ ยังคงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในขณะนี้ 

ในการหามูลค่าหุ้นของ MCS กำหนดให้ owner's earning ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตปีที่ 1-10 เป็นไปตามสมการ Estimated owner's earning (Y) = 0.2304Y + 0.0656 และปีที่ 11 เป็นต้นไปค่า owner's earning มีการเติบโตด้วยอัตรา 4% เราจะได้ข้อมูล owner's earning คาดหมายดังตารางข้างล่าง จากตารางจะพบว่าอัตราการเติบโตของ owner's earning คาดหมายจะเริ่มจาก 15.91% ในปีที่ 1 แล้วทยอยลดลงไปจนถึง 6.54% ในปีที่ 10 นับว่าเป็นการเจริญเติบโตของกิจการที่สมเหตุสมผลไม่รวดเร็วเกินไป เมื่อได้ค่า owner's earning ของแต่ละปีในอนาคตแล้วจึงแปลงมูลค่า owner's earning ของปีนั้น ๆ มาเป็นมูลค่าในปัจจุบัน ด้วยอัตราต้นทุนทางการเงิน 9% (ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 5% + เงินเฟ้อ 4%) จะได้มูลค่าของ MCS เท่ากับ 49.35 บาทต่อหุ้น (ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 139 ปี ในการรวบรวม owner's earning จนครบ 49.35 บาท แต่เนื่องจากค่าน้ำหนักของ owner's earning จะลดลงตามเวลา ดังนั้นถ้าพิจารณาเพียงครึ่งหนึ่งของมูลค่า 49.35 บาท หรือ 24.68 บาท จะใช้เวลารวบรวมมูลค่าเพียง 16.17 ปี ) และเพื่อการเปรียบเทียบถ้าเราใช้อัตราต้นทุนทางการเงินอื่น ๆ จาก 6% ไปจนถึง 18% จะได้มููลค่าหุ้นในช่วง 127.85 ถึง 16.18 บาทต่อหุ้น


            (คลิกภาพเพื่อขยาย)


ถ้าใช้อัตราต้นทุนทางการเงิน 9% MCS น่าจะมีมูลค่าของกำไรของผู้ถือหุ้นในอนาคต คิดย้อนกลับมาเป็นมูลค่าในปัจจุบันเท่ากับ 49.35 บาทต่อหุ้น ดังนั้น การเข้าลงทุนซื้อหุ้น MCS ภายใต้การคาดการณ์ข้างต้น ที่ราคา 10.60 บาท ถือว่ามีส่วนลด 100*(49.35-10.60)/49.35 = 78.52% ในการรวบรวมกำไรของผู้ถือหุ้นให้ได้ครึ่งหนึ่งของมูลค่า 49.35 บาท ดังที่ได้ทำมา จะต้องใช้เวลาทั้งสิ้น 16.17 ปี ดังนั้นมูลค่าที่หาได้ดังกล่าวผมไม่สามารถบอกว่าจริง ๆ แล้วราคาหุ้นจะไปถึงค่านี้ภายในกี่ปีครับ



การประเมินคุณค่าหุ้นอย่างง่าย

ต่อไปผมพิจารณาคุณค่าของหุ้น MCS ในแง่ของราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E) ราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (P/B) และอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) โดยใช้ข้อมูลดังนี้
  • กำไรต่อหุ้น (Earning) คิดเป็นรายปี โดยรวมกำไรต่อหุ้นของ 4 ไตรมาส (12 เดือน) ล่าสุด หรือที่เรียกว่า trailing twelve month (ttm) จาก 2010Q2-2011Q1 ได้ 1.51 บาทต่อหุ้น
  • มูลค่าทางบัญชี (Book value) = มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (Net asset value) = ส่วนของผู้ถือหุ้น (Share holder's equity) =  ได้ 4.38 บาท
  • อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) = ttm-Earning / NAV
กำหนดราคาหุ้นในช่วง 5 ถึง 30 บาท จะได้ข้อมูลคุณค่าหุ้นเบื้องต้นดังนี้

                                (คลิกภาพเพื่อขยาย)

ราคาหุ้น MCS ในปัจจุบันอยู่ประมาณ 10 บาท ซึ่งได้ P/B 2.3 เท่า P/E 6.6 เท่า เทียบได้กับการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ดอกเบี้ย 15.1% นับว่าเป็นระดับการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีมาก ถ้าราคาหุ้นจะขึ้นไปถึง 15 บาท P/B และ P/E จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 เท่า และ 9.9 เท่าตามลำดับ นับว่ายังสมเหตุสมผลอยู่ดี ROE 34.56 % หมายถึง ถ้าผู้ถือหุ้นเอาเงิน 100 บาท มาลงทุนในกิจการนี้ จะมีกำไร 34.56 บาท ซึ่งนับว่าสูงมาก
          โดยรวมผมคิดว่าราคาของหุ้น MCS จะสามารถไต่ระดับขึ้นไปได้อีกหลังจากมีการย่ำฐานที่ระดับ 10-12 บาทได้แน่นดีแล้ว ทั้งนี้เราต้องคอยติดตามปรับปรุงข้อมูลผลประกอบการของไตรมาสต่อ ๆ ไปเพื่อเฝ้าดูพื้นฐานของหุ้นไปเรื่อย ๆ ในขณะนี้แนวโน้มยังดูดีอยู่ครับ
          เมื่อลองส่องให้เห็นภาพที่ทุกคนไม่อยากให้เกิด ด้วยคำถามที่ว่า ถ้า MCS เกิดเจ๊งขึ้นมาตอนนี้ ผู้ถือหุ้นจะได้เงินคืนเท่าไร ? สมมุติว่าหุ้นทั้งหมดของ MCS เป็นหุ้นสามัญ ถ้าบริษัทเลิกกิจการ ขายสินทรัพย์และชำระหนี้ทั้งหมดที่มีอยู่ แล้วเอาเงินสดที่เหลืออยู่จ่ายคืนผู้ถือหุ้น การดำเนินการดังกล่าวเขียนเป็นสมการได้ว่า สินทรัพย์ - หนี้สิน = ส่วนของผู้ถือหุ้น = มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) = มูลค่าทางบัญชี (book value) จากตารางข้างบน ปัจจุบันกิจการมี NAV หุ้นละ 4.38 บาท ดังนั้นอย่างน้อยเราจะได้เงินคืน 4.38 บาทต่อหุ้นครับ


==============================================================================

ติดตาม "ลงทุนหุ้นไทย" ที่    facebook.com/thstockinvest    twitter.com/thstockinvest 


เรียนรู้การดูกราฟหุ้นทางเทคนิคได้ที่ Free Stock Technical Analysis Tutorial


หาเพื่อนนักลงทุนในกลุ่มสนทนา  ชำแหละพื้นฐานหุ้น