Saturday, July 23, 2011

ชำแหละพื้นฐานหุ้น MCS ฉบับสมบูรณ์ ครอบคลุมถึงงบการเงิน 2011Q1

          ในโพสต์ก่อนหน้านี้ผมได้กล่าวถึงความน่าสนใจของหุ้น MCS เมื่อมองจากมุมของสัญญาณ MACD รายเดือน (คลิกที่นี่เพื่อย้อนไปอ่าน) อย่างที่ผมได้ย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า ถ้ายังไม่ชำแหละหุ้นดูข้างในให้กระจ่างชัดเสียก่อน อย่างเพิ่งรีบร้อนลงทุน ในโพต์นี้ผมจะนำภาพที่ซ่อนอยู่ในงบการเงินของหุ้น M.C.S. Steel มาเปิดให้ดูกันชัด ๆ ครับ ข้อมูลหลายอย่างเมื่ออยู่ในรูปตัวเลขแล้ว เฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์ลงทุนสูง ๆ ระดับเซียนหุ้นเท่านั้นที่จะนึกภาพออกทันที แต่ถ้าเราเปลี่ยนมาแสดงข้อมูลด้วยกราฟแทน แม้มือสมัครเล่นก็เข้าใจได้ว่าอะไรเป็นอะไร นี่คือประโยชน์ของการชำแหละหุ้นที่ผมอยากแบ่งปันกับนักลงทุนทั้งหลายซึ่งโดยมากจะเป็นมือสมัครเล่นครับ

รู้จักกิจการ

          เริ่มจากการทำความรู้จักกับกิจการก่อนครับ ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ MCS บอกว่า กิจการนี้ตั้งอยู่ที่อยุธยา เป็นผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างสำหรับตึกสูง โรงงาน สะพาน และงานก่อสร้างทั่วไป เพื่อส่งให้ผู้รับเหมาก่อสร้างญี่ปุ่น 3 รายใหญ่ ผ่านบริษัทลูกในญี่ปุ่น ดูจากรายการเครื่องจักรของโรงงานสรุปง่าย ๆ ว่าเป็นการตัด เจาะ ดัด เชื่อม ขึ้นรูป ชิ้นเหล็กให้อยู่ในรูปร่างและขนาดพร้อมใช้ในการก่อสร้าง (steel fabrication) เพื่อที่ว่าผู้รับเหมาะจะได้นำไปใช้ได้ทันทีไม่ต้องทำเองที่หน้างาน


ผู้บริหาร
ชื่อตำแหน่ง
นาย ไนยวน ชิประธานกรรมการ
นาย ไนยวน ชิประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
นาย สมพงษ์ เมธาสถิตย์สุขกรรมการผู้อำนวยการ
นาย พรชัย พิศาลอนุกูลกิจกรรมการ
นาย ไพรัตน์ วิวัฒน์บวรวงษ์กรรมการ
นาย สุทธิพงษ์ เวศย์วรุตม์กรรมการ
นาย สมยศ เจียมจิรังกรกรรมการอิสระ
พล.ต.ต. สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุลกรรมการอิสระ
นาย ทินกร สีดาสมบูรณ์กรรมการอิสระ
นาย สมยศ เจียมจิรังกรประธานคณะกรรมการตรวจสอบ
พล.ต.ต. สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุลกรรมการตรวจสอบ
นาย ทินกร สีดาสมบูรณ์กรรมการตรวจสอบ




ผู้ถือหุ้นรายใหญ่
ชื่อจำนวนหุ้นสัดส่วน
นาย ไนยวน ชิ78,751,40015.75%
นาย สุทธิพงษ์ เวศย์วรุตม์53,700,00010.74%
SOMERS (U.K.) LIMITED40,753,5008.15%
บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด38,051,3007.61%
MRS. YOKO KI(CHI)30,000,0006.00%
นาย สุรชัย รติทอง15,200,0003.04%
นาย สินธุ เวศย์วรุตม์10,310,0002.06%
ด.ญ. ชาลิสา ชิ10,000,0002.00%
J.P. MORGAN BANK LUXEMBOURG S.A. LEND9,988,6002.00%
นาย สุนทร ด่านเฉลิมนนท์7,250,0001.45%
นาย สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล7,000,0001.40%
นาย ฮารกิชิน ทันวานี6,700,0001.34%
นาย สมเกียรติ เทิดทูลทวีเดช5,944,9001.19%
MR. TAIKI KI5,000,0001.00%
MISS KARIN (CHIA LING) KI (CHI)5,000,0001.00%
MR. YUKI KI5,000,0001.00%
นาย สมพงษ์ เมธาสถิตย์สุข4,945,1000.99%
นาง ขวัญตา เวศย์วรุตม์4,120,0000.82%
CITIBANK NOMINEES SINGAPORE PTE LTD-UBS AG LONDON BRANCH-NRB3,674,4000.73%
นาย บำรุง ศรีงาน3,560,0000.71%
บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด3,420,0000.68%
ดร. ชัชวิน เจริญรัชต์ภาคย์3,100,0000.62%
กองทุนเปิด ไทยพาณิชย์หุ้นทุนปันผล2,843,8000.57%
นาย สุเมธ กิตติพร้อมพงษ์2,700,0000.54%
นาย สมพงษ์ วงค์กุศลเลิศ2,681,5000.54%
J.P. MORGAN MARKETS LIMITED-CUSTOMER REG. ACCOUNT2,646,4000.53%


          ต่อไปดูแนวโน้มกรอบใหญ่ของราคาหุ้นด้วยกราฟรายเดือนย้อนหลัง 5 ปี ดังภาพข้างล่าง พบว่า หุ้นอยู่ในขาขึ้นระยะยาวอย่างชัดเจน โดยมีจุดยืนยันแนวโน้มขาขึ้นระยะยาวเป็นจุดที่กราฟฮิสโตแกรม MACD ตัดแกนศูนย์จากด้านลบขึ้นไปด้านบวก เมื่อกลางปี 2009 พร้อมกับการที่ราคาหุ้นตัดผ่านเส้นค่าเฉลี่ย 25 เดือนขึ้นไปได้  ในช่วงเดียวกันนี้ สัญญาณ RSI ได้ตัดผ่านเส้น 50% ขึ้นไปเช่นกัน (สัญญาณเหล่านี้ได้ช่วยกันยืนยันการฟื้นตัวอย่างพร้อมเพรียง) จากจุดนั้นเป็นต้นมาราคาหุ้นได้ไต่ระดับขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเกิดสัญญาณยืนยันแนวโน้มขาขึ้นครั้งที่สองโดยมี SMA25M ตัดกับ SMA50M แบบขาขึ้น เมื่อกลางปี 2010 ราคาหุ้นจึงหยุดพักฐานอยู่ 7 เดือนที่ราคาบริเวณ 10 บาท ในช่วง 2 -3 เดือนที่่ผ่านมาราคาหุ้นพยายามไต่ระดับขึ้นไปสู่ระดับใหม่ แต่ดูเหมือนว่าจะยังคงย่ำเท้าอยู่แถว ๆ 10-12 บาทไปอีกระยะหนึ่ง จากกราฟราคาหุ้นรายเดือนนี้ พบว่าการใช้กราฟ MACD รายเดือนเพื่อดูแนวโน้มราคาหุ้นในกรอบใหญ่ใช้ได้ดีกับหุ้น MCS เช่นเดียวกับตัวอื่น ๆ ที่ได้เคยชำแหละดูก่อนหน้านี้

                             (คลิกภาพเพื่อขยาย)

ชำแหละงบการเงิน

          เมื่อกราฟแนวโน้มของ MCS บ่งชี้ว่าหุ้นที่วิ่งมาแรงได้มีโอกาสพักเหนื่อย และกำลังอยู่ในช่วงปลาย ๆ ของการพักฐานแล้ว จึงชำแหละดูพื้นฐานของ MCS จากงบการเงินที่รวบรวมย้อนไปได้ไกลที่สุดถึงปี 2004 (กิจการก่อตั้งเมื่อ ปี 1992) เมื่อไม่ทราบข้อมูลของกิจการก่อนหน้านั้น จึงสมมุติข้อมูลปี 2004 เป็นข้อมูลเริ่มต้น ค่าตัวเลขต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยสะสม (cumulative) จึงเป็นตัวเลขที่เริ่มนับจากปี 2004 ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่จะแสดงแนวโน้มที่เป็นประโยชน์ในการประเมินศักยภาพของกิจการในอนาคตได้ดีพอสมควร ปัจจัยที่เราจะสกัดออกมาจากงบการเงินของกิจการได้แก่ กำไรสุทธิต่อหุ้น (earning per share: EPS) การเติบโตของกำไรต่อหุ้นเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY EPS growth) รายได้ต่อหุ้น (revenue per share) การเติบโตของรายได้ของกิจการ (YOY revenue growth) กำไรของผู้ถือหุ้น (owner's earning) มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (Net Asset Value) และการประหยัดจากขนาด (economy of scale) วิธีการคำนวณปัจจัยพื้นฐานดังกล่าวตลอดจนที่มาของข้อมูลจากส่วนต่าง ๆ ของงบการเงินสรุปได้ดังนี้
  • EPS หาได้จากการนำ กำไรสุทธิ (net income) หารด้วยจำนวนหุ้น โดยเอากำไรสุทธิมาจาก งบกำไร-ขาดทุน (income statements) และเอาจำนวนหุ้นมาจาก งบดุล (balance sheet)

  • การเติบโตของ EPS หาได้จากการเปรียบเทียบ EPS ของไตรมาสที่กำลังคำนวณ กับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือ
    100 x ( EPS ไตรมาสที่คำนวณ - EPS ไตรมาสปีก่อนหน้า) / EPS ไตรมาสปีก่อนหน้า
    เป็นเปอร์เซนต์

  • รายได้สุทธิต่อหุ้น หาได้จาก รายได้สุทธิ (total revenue) หารด้วยจำนวนหุ้น โดยเอารายได้สุทธิมาจาก งบกำไร-ขาดทุน (income statements)

  • การเติบโตของ รายได้สุทธิต่อหุ้น หาได้จากการเปรียบเทียบ รายได้สุทธิต่อหุ้น ของไตรมาสที่กำลังคำนวณ กับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือ
    100 x (รายได้ไตรมาสที่คำนวณ - รายได้ไตรมาสปีก่อนหน้า) / รายได้ไตรมาสปีก่อนหน้า
    เป็นเปอร์เซนต์
  • กำไรของผู้ถือหุ้น (owner's earning) เป็นเงินสุทธิที่ไหลเข้าบริษัทในรอบระยะเวลานั้นซึ่งหักค่าใช้จ่ายลงทุนเกี่ยวกับที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ออกไปแล้ว เปรียบเสมือนมูลค่ากำไรที่สะสมตกทอดมายังเจ้าของกิจการ (ผู้ถือหุ้น) กำไรของผู้ถือหุ้น อาจเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า กระแสเงินสดอิสระ (free cash flow) การคำนวณเริ่มจากการนำกระแสเงินสดที่ได้รับจากการดำเนินงาน (operating cash flow) หักออกด้วยค่าใช้จ่ายลงทุนใน ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ (capital expenditures) ที่จำเป็นต้องใช้ในการรักษาสถานะของกิจการให้คงอยู่ต่อไป

    สำหรับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหาได้จากงบกระแสเงินสด (cash flow statements) ในส่วน กระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน (cash flow from operating activities) ที่ระบุว่า เงินสดที่ได้รับเข้ามาจากกิจกรรมการดำเนินงาน (net cash obtained from operating activities)

    ส่วนค่าใช้จ่ายลงทุนเพื่อรักษาสถานะของกิจการหาได้จากงบกระแสเงินสด (cash flow statements) ในส่วน กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน (cash flow from investing activities) ที่ระบุว่าเป็นเงินสดจ่ายเพื่อซื้อที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ (cash paid for acquisition of property, plant and equipment)

    โดยสรุป owner's earning  = free cash flow =
    [cash obtained from operation] -[ cash paid for acquisition of property, plant and equipment]

  • การประหยัดจากขนาด (economy of scale) หมายถึง กำไรของผู้ถือหุ้นที่กิจการได้รับต่อปริมาณเงินลงทุนที่ใช้ไปในการซื้อที่ดิน อาคารและอุปกรณ์  กิจการที่ใช้สร้างกำไรของผู้ถือหุ้นได้มากโดยใช้เงินลงทุนในที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์น้อย ๆ ถือเป็นกิจการที่มีการประหยัดจากขนาด เปรียบกิจการแบบนี้เหมือนเป็นเครื่องปั๊มเงิน เราแค่ป้อนวัตถุดิบคือ กระดาษ หมึกพิมพ์ และไฟฟ้าเข้าไป เครื่องก็จะพ่นธนบัตรออกมา ในฐานะเจ้าของเครื่องปั๊มเงิน เราย่อมอยากได้เครื่องปั๊มเงินที่กินไฟน้อย ใช้กระดาษ และหมึกพิมพ์อย่างประหยัดที่สุด แต่พ่นธนบัตรออกมามากที่สุด ดังนั้นตัวเลขการประหยัดจากขนาดที่ได้จากการคำนวณแบบนี้ ยิ่งเป็นตัวเลขที่มาก ยิ่งดี

  • มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ต่อหุ้น คือ สินทรัพย์ลบด้วยหนี้สิน หารด้วยจำนวนหุ้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มูลค่าทางบัญชีของกิจการ (book value) สินทรัพย์สุทธิ และหนี้สินสุทธิ เอามาจากงบดุล  (balance sheet)
การสกัดข้อมูลจากงบการเงินรายไตรมาสของ MCS ได้ผลดังตารางต่อไปนี้

                               (คลิกภาพเพื่อขยาย)

พิจารณาข้อมูลกำไรสุทธิของ MCS พบว่า กิจการมีกำไรมาตลอดทุกไตรมาสนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรับเมื่อปี 2005 และเมื่อเปรียบเทียบกำไรสุทธิของไตรมาสใด ๆ กับกำไรสุทธิของไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YOY) แล้วลงสีเป็นจุดสังเกต ถ้ากำไรเติบโตเป็นลบ ลงสีแดง ถ้ากำไรเติบโตเป็นบวกในระดับประมาณ 20% ขึ้นไป ลงสีเขียว จะเห็นได้ว่าตลอดปี 2009 และครึ่งแรกของปี 2010 กำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องในช่วง 19% - 132% ในช่วงดังกล่าว ราคาหุ้นก็เติบโตต่อเนื่องไปในลักษณะเดียวกัน
          ในช่วงครึ่งหลังของปี 2010 จนมาถึงปัจจุบัน กำไรสุทธิของ MCS มีการหดตัวและเติบโตสลับกัน ไม่ได้เติบโตต่อเนื่องเหมือนช่วงก่อนหน้า ทำให้ราคาหุ้นหยุดวิ่งและพักเอาแรงนับแต่นั้นมา เมื่อพิจารณาการเติบโตของรายได้ โดยลงสีเป็นจุดสังเกตด้วยเกณฑ์เดียวกันกับการเติบโตของกำไรสุทธิ พบว่ามีลักษณะล้อกันไปกับลักษณะการเติบโตและหดตัวของกำไรสุทธิ และมักจะมีสัญญาณการชะลอตัวแสดงออกมาที่การเติบโตของรายได้ก่อนหน้ากำไรสุืทธิเล็กน้อยเช่น ในไตรมาส 2009Q4 กำไรสุทธิเติบโต 132.16% แต่รายได้เติบโตเพียง 4.63% โดยลดลงมาจากระดับที่มากกว่า 20% ของสี่ไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนออกมาว่ากำไรจะโตน้อยลงในไตรมาสที่จะตามมา  นับตั้งแต่ไตรมาส 2010Q1 รายได้เริ่มหดตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ จาก -4.56% ไปเป็น -29.37% และ -69.40% ตามลำดับ ทำให้กำไรสุทธิมีการเติบโตน้อยลงเรื่อย ๆ จนหดตัวลงในไตรมาส 2010Q3 ที่หดตัวถึง -65.28% อย่างไรก็ตามตั้งแต่ไตรมาส 2010Q4 เป็นต้นมา การหดตัวของรายได้เริ่มมีความรุนแรงน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งเราต้องติดตามต่อไปเมื่อมีการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2011Q2 ออกมา ว่าการหดตัวน้อยลงดังกล่าวจะสามารถพลิกกลับเป็นการเติบโตได้ต่อไปหรือไม่
          จากข้อมูลในงบการเงินรายไตรมาส เมื่อนำตัวเลขสินทรัพย์ ลบออกด้วยหนี้สิน จะได้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) หรือมูลค่าทางบัญชี (book value) ของกิจการในแต่ละไตรมาส พบว่า สินทรัพย์สุทธิของกิจการมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากเจ้าของกิจการอาจจะใช้เทคนิคทางบัญชีทำให้มูลค่าทางบัญชีออกมาดูดีหลอกนักลงทุนให้เชื่อได้ไม่ยาก ดังนั้นผมจะพิจารณาการตกทอดของกำไรสุทธิ มายังผู้ถือหุ้นในรูป "กำไรของผู้ถือหุ้น หรือ owner's earning" (ไม่ใช่เงินปันผล) ที่สะสมอยู่ในกิจการ โดยหักค่าใช้จ่ายลงทุนที่ใช้ในที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ (capital expenditures) ออกแล้วซึ่งต้องใช้กระแสเงินสดที่ไหลเข้าิิออกจากกิจการมาพิจารณาแทนสินทรัพย์และหนี้สิน ซึ่งเจ้าของกิจการจะดัดแปลงบัญชีให้ดูดีได้ยากกว่ามาก เมื่อพิจารณาในแนวทางนี้จะพบว่า กิจการให้กำเนิดกำไรของผู้ถือหุ้นเป็นบวก สลับเป็นช่วง ๆ กับกำไรของผู้ถือหุ้นเป็นลบ โดยช่วงที่เป็นบวกมีค่าตัวเลขและจำนวนไตรมาสมากกว่าช่วงที่เป็นลบ หมายความว่ากำไรของผู้ถือหุ้นมีการเติบโตสะสมในกิจการแบบเพิ่มขึ้นเป็นขยัก ๆ (ตามฤดูกาล เช่น หน้าฝนงานก่อสร้างมีความล่าช้ากว่าหน้าแล้ง) อย่างที่เกริ่นไว้ตอนแรก ถ้าเราดูข้อมูลที่กล่าวมาในรูปกราฟจะได้ภาพที่เห็นแนวโน้มได้ง่ายขึ้นดังกราฟต่อไปนี้ 


กราฟกำไรสุทธิของ MCS แสดงแนวโน้มและอิทธิพลของฤดูกาลอย่างชัดเจน กำไรสุทธิในช่วงหลัง ๆ มีความผันผวนสูงมาก


กราฟอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิของ MCS (%YOY) แสดงการเติบโตมากกว่าการถดถอย


กราฟรายได้ของ MCS แสดงอิทธิพลของฤดูกาลอย่างชัดเจน


กราฟอัตราการเติบโตของรายได้ของ MCS (%YOY)  แสดงการเติบโตมากกว่าการถดถอย


กราฟมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ หรือมูลค่าทางบัญชี ของ MCS แสดงการเพิ่มมูลค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราประมาณ 0.11 บาทต่อไตรมาส
          ในการแปลความหมายของปัจจัยพื้นฐานที่สกัดได้จากงบการเงินนั้น ข้อมูลบางชนิดจะมีความหมายและเห็นแนวโน้มชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อพิจารณาในรูปแบบมูลค่าสะสมนับตั้งแต่ก่อตั้งกิจการเป็นต้นมา หรือพิจาณาย้อนกลับไปไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นในกรณีของ MCS ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานแบบสะสมที่สกัดได้จากงบการเงินจึงเป็นค่าที่เริ่มนับจากปี 2004 ซึ่งผมมีข้อมูลย้อนกลับไปได้ไกลที่สุดดังแสดงในตารางข้างล่าง
                          (คลิกภาพเพื่อขยาย)

ข้อมูลตัวเลขในตารางนำมาวาดเป็นกราฟได้ดังนี้


กราฟกำไรสุทธิสะสมที่ได้จากการประกอบกิจการนับตั้งแต่ปี 2004 แสดงกำไรสุทธิสะสมเพิ่มขึ้นในอัตรา 0.10 บาทต่อไตรมาสในช่วงปี 2004-2009Q3 และอัตรา 0.40 บาทต่อไตรมาสนับตั้งแต่ 2009Q4 -ปัจจุบัน


แต่เมื่อมองผลตอบแทนด้วยกราฟกำไรของผู้ถือหุ้นที่สะสมอยู่ในกิจการนับตั้งแต่ปี 2004 จะเห็นว่าการสะสมมูลค่าของกำไรของผู้ถือหุ้นมีลักษณะโตแล้วหยุดพักเป็นช่วง ๆ ด้วยแนวโน้มในทางเพิ่มขึ้น


ถ้าพิจารณามูลค่าของผลกำไรสะสมจากการประกอบกิจการในกรอบใหญ่โดยนับรวมตั้งแต่ปี 2004 เทียบกับรายได้สะสม พบว่า กำไรสุทธิสะสมเทียบกับรายได้สะสมมีค่า 8.4%  และได้เพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับจนถึง 14.42% ในปัจจุบัน


แต่หากว่าเรามองลึกลงไปอีกชั้นหนึ่งคือ มองผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น MCS ในรูปกำไรของผู้ถือหุ้นสะสมแทนที่จะมองเพียงกำไรสุทธิสะสม จะเห็นได้ว่าการประกอบกิจการในปี 2004 นั้นได้ก่อให้เกิดกำไรของผู้ถือหุ้นคิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้ หลังจากนั้นเป็นต้นมาอัตราส่วนกำไรของผู้ถือหุ้นสะสมต่อรายได้สะสมได้ลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือเพียง 5% ในไตรมาส 2007Q2 แล้วจึงเปลี่ยนแนวโน้มเป็นขาขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าการตกต่ำของกำไรของผู้ถือหุ้นสะสมเทียบกับรายได้สะสมนี้เองที่ทำให้ราคาหุ้นในช่วงนั้นแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย  แสดงว่ามีอะไรบางอย่างในการดำเนินกิจการที่ไม่ค่อยจะถูกต้องนัก และในเวลาต่อมาสิ่งนั้นได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง เป็นไปได้หรือไม่ว่านี่เป็นปัญหาเรื่องการลงทุนที่ล้มเหลวในกิจการผลิตปุ๋ยชีวภาพซึ่งได้ยกเลิกไปในเวลาต่อมา ?


ในทำนองเดียวกันกับการมองสัดส่วนของกำไรของผู้ถือหุ้นว่าเป็นกี่เปอร์เซนต์ของรายได้ที่เข้ามา (ค่าตัวเลขยิ่งมากยิ่งดี) ถ้าเรามองประสิทธิภาพของกิจการ ด้วยคำถามที่ว่า ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา กำไรของผู้ถือหุ้นที่ได้สร้างสมไว้ในบริษัทคิดเป็นกี่เท่าของมูลค่าลงทุนในที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์รวมทั้งหมด ถ้าได้กำไรของผู้ถือหุ้นมากแต่ลงทุนในที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์น้อยกว่า ก็แสดงว่ากิจการมีประสิทธิภาพ หรือมีการประหยัดจากขนาดมากกว่า (ค่าตัวเลขยิ่งมากยิ่งดี) เมื่อมองในมุมนี้จะเห็นได้ว่าในช่วงแรก ๆ หลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตัวเลขการประหยัดจากขนาดมีค่าลดลงเรื่อย ๆ จาก 5.38 เท่า ในปี 2004 ลงไปที่ 1.66 เท่า ในไตรมาส 2007Q2 จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน
          จากข้อมูลในรูปแบบมูลค่าสะสม พูดได้ว่า ปัจจุบัน MCS มีรายได้สะสม 42.91 บาทต่อหุ้น ในรายได้ก้อนนี้คิดเป็นกำไรสุทธิสะสม 6.19 บาท หรือ 14.42% ของรายได้ ในกำไรสุทธิก้อนนี้ ได้ตกทอดไปเป็นมูลค่ากำไรของผู้ถือหุ้นที่สะสมอยู่ในกิจการ 5.36 บาท หรือ 12.49% ของรายได้ กำไรของผู้ถือหุ้นก้อนนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการลงทุนซื้อที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ไป 1.17 บาท หรือมีการประหยัดจากขนาด 4.59 เท่า ถ้านำเอาการเติบโตของกำไรสุทธิรายไตรมาสที่คำนวณได้ไปเติมลงในกราฟราคาหุ้นในกรอบ 5 ปีของ MCS จะได้ผลดังภาพต่อไปนี้

                           (คลิกภาพเพื่อขยาย)

จากกราฟราคาหุ้นจะเห็นได้ว่าช่วงปลายปี 2006 ถึง กลางปี 2007 กำไรสุทธิมีการหดตัวอย่างต่อเนื่องทำให้ราคาหุ้นแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย หลังจากนั้น กำไรสุทธิเริ่มมีการเติบโตจนกระทั่งเติบโตอย่างโดดเด่นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2007 ต่อไตรมาสแรกของปี 2008 ในช่วงนี้ยังไม่มีข้อมูลตัวเลขที่สกัดจากงบการเงินใด ๆ เลยที่บ่งชี้ว่าจะเกิดปัญหากับกิจการ นอกจากบรรยากาศการเริ่มเข้าสู่กระบวนการล้มละลายของ Goldman Sachs ทั้งนี้เนื่องจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เพิ่งเริ่มเกิดและยังไม่ส่งผลมาปรากฎในงบการเงินของ MCS แต่อย่างใด ดังนั้นนักลงทุนที่มีประสบการณ์น้อยอาจจะเข้าซื้อ MCS ด้วยเหตุผลที่ว่ากิจการมีกำไรสุทธิเติบโตเกิน 100% ติดต่อกันสองไตรมาสโดยไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่กำลังคืบคลานเข้ามา ทำให้ต้องขาดทุนจากการที่ราคาหุ้น MCS ลดลงอย่างมากในครึ่งหลังของปี 2008 ซึ่งกำไรสุทธิหดตัว ไตรมาสละ 30.29% และ 5.42% ตามลำดับ หลังจากที่ผลของวิกฤตเศรษฐกิจปรากฎออกมาอย่างชัดเจนแล้ว กำไรสุทธิของ MCS ก็เริ่มเติบโตขึ้นอีกครั้ง และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 6 ไตรมาสต่อ ๆ มา พร้อม ๆ กันกับการฟื้นตัวของราคาหุ้นขึ้นมาจากจุดต่ำสุดเกือบ 5 เท่าตัว แล้วจึงมีการพักฐานโดยมีการหดตัวสลับกันกับการเติบโตของกำไรสุทธิในปัจจุบัน
          ในการมองหาหุ้นน่าลงทุนนั้น วอร์เรน  บัฟเฟตต์ แนะนำว่า อย่าสนใจแต่ค่ากำไรสุทธิต่อหุ้น หรือ EPS (earning per share) แต่ควรสนใจที่ อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ ROE (return on equity) ซึ่งมีความหมายว่า ถ้าผู้ถือหุ้นนำเงิน 100 บาทมาลงทุนในกิจการนี้ เมื่อครบ 1 ปี จะได้ผลตอบแทนเป็นกำไรเกิดขึ้นกี่บาท ดังนั้นค่า ROE จึงบ่งชี้ความสามารถในการสร้างกำไรให้กิจการด้วยทรัพยากรคือเงินลงทุนจากผู้ถือหุ้น หุ้นที่มี ROE สูงย่อมสะท้อนประสิทธิภาพของฝ่ายบริหารได้ดีกว่าค่ากำไรต่อหุ้น อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น หาได้จากการเอากำไรสุทธิ (EPS) รอบ 1 ปี หารด้วย ส่วนของผู้ถือหุ้น โดยที่ส่วนของผู้ถือหุ้น ก็คือ สินทรัพย์สุทธิ (Net Asset Value) หรือมูลค่าทางบัญชี (Book value) นั่นเอง 

ROE = EPS / NAV

กราฟข้างล่างแสดงค่า ROE ของหุ้น MCS จะเห็นว่ามีค่ามากกว่า 20 % มาตลอด และมีค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยในปีล่าสุด 2010 มี ROE 36.10 % หรือสามารถพูดได้ว่า ถ้าผู้ถือหุ้นนำเงินมาลงทุนในกิจการนี้ 100 บาท กิจการจะสร้างกำไรได้ 36.10 บาท นับว่าสูงมาก และน่าลงทุน


          สิ่งที่เราควรมองหาอีกอย่างหนึ่งคือความสามารถของผู้บริหารในการนำเงินกำไรที่เก็บไว้ในบริษัทไปทำให้งอกเงยจนราคาหุ้นเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ (เกิด capital gain) หากว่าผู้บริหารไม่สามารถทำให้เงินกำไรที่เก็บไว้ในกิจการงอกเงยมากกว่าเดิมได้ ก็ควรนำเงินส่วนนั้นมาปันผลคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น หรือนำไปซื้อหุ้นคืนเพื่อให้มูลค่ากิจการต่อหุ้นสูงขึ้น ดังนั้นประสิทธิภาพการใช้เงินกำไรซึ่งเก็บไว้ในกิจการไปสร้างมูลค่าหุ้นให้เพิ่มขึ้นนี้ จึงเป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่บอกเราว่า กิจการมีศักยภาพในการดันราคาหุ้นให้เพิ่มขึ้นไปได้มากน้อยเพียงใด การประเมินประสิทธิภาพการเพิ่มราคาหุ้นดังกล่าว มีสิ่งที่ต้องใช้ในการคำนวณดังนี้
  • ราคาหุ้นต้นงวด
  • กำไรสุทธิที่เกิดขึ้นในระหว่างงวด
  • เงินปันผลที่จ่ายออกไปในระหว่างงวด
  • กำไรที่เก็บไว้ใช้ในระหว่างงวด (retained earning) = กำไรสุทธิที่เกิดขึ้นในระหว่างงวด - เงินปันผลที่จ่ายออกไปในระหว่างงวด
  • ราคาหุ้นปลายงวด
ในกรณีของ MCS ราคาหุ้น ณ สิ้นปี 2006 เท่ากับ 3.74 บาท ระหว่างปี 2007-2010 MCS ทำกำไรได้ทั้งสิ้น 4.14 บาทต่อหุ้น ถ้า MCS ไม่จ่ายปันผลเลย  เงินกำไรทั้งหมดนี้ก็คือมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในกิจการระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้น ณ สิ้นปี 2010 ราคาหุ้นของ MCS ควรมีค่า 3.74 + 4.14 = 7.88 บาท แต่ MCS ได้จ่ายเงินปันผลออกไป 1.73 บาทต่อหุ้น เก็บไว้ใช้ในกิจการ 2.41 บาทต่อหุ้น ดังนั้นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในกิจการระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวจึงเหลือเพียง 2.41 บาทต่อหุ้น ทำให้ ณ สิ้นปี 2010 ราคาหุ้นของ MCS ควรมีค่า 3.74 + 2.41 = 6.15 บาทเท่านั้น แต่หลังจากจ่ายปันผลออกไป และเก็บเงินกำไร 2.41 บาทต่อหุ้นไว้ใช้ในกิจการแล้ว คณะผู้บริหารสามารถใช้เงินที่เก็บไว้ (retained earning) ในการทำให้ราคาหุ้นของ MCS ณ สิ้นปี 2010 กลายเป็น 9.90 บาท เพิ่มขึ้น (capital gain) 6.16 บาท หรืออาจกล่าวได้ว่า คณะผู้บริหารสามารถใช้เงินกำไร 1 บาทที่เก็บไว้เพื่อดันให้ราคาหุ้นขึ้นไปได้อีก 6.16/2.41 = 2.56 บาท นั่นเอง ค่าอัตราส่วนราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นต่อเงินกำไรที่เก็บไว้ในกิจการนี้ เรียกว่า retained earning employmentตารางข้างล่างแสดง retained earning employment ณ วันสิ้นสุด ปี 2007 ถึงปี 2010 ของหุ้น MCS ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้บริหารเพิ่งจะสามารถทำให้เงินกำไรที่เก็บไว้ในกิจการดันราคาหุ้นขึ้นไปอย่างมีนัยสำคัญได้ในปี 2010 ที่ผ่านมานี้เอง

                            (คลิกภาพเพื่อขยาย)

          จากการพิจารณาค่าปัจจัยที่สกัดได้จากงบการเงินเพื่อตอบคำถามว่า ราคาหุ้นของ MCS ยังคงมีศักยภาพในการเพิ่มค่าหลังจากการพักฐานรอบปัจจุบันขึ้นไปได้อีกหรือไม่ พบว่า กำไรสุทธิสะสมของ MCS ยังคงเพิ่มมูลค่าขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง และคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เมื่อพิจารณาลึกเข้าไปอีกจะพบว่า กำไรของผู้ถือหุ้นที่สะสมไว้ได้ในกิจการ และค่าการประหยัดจากขนาดยังคงมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะมีความผันผวนเป็นขยัก ๆ บ้าง ข้อมูลทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่า พื้นฐานของกิจการยังคงมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อไป การย่ำฐานของราคาหุ้นในปัจจุบันเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อสะสมอย่างไม่ต้องรีบร้อน

การประมาณมูลค่ากิจการแบบ discounted owner's earning (DOE)

ในการหามูลค่าที่ควรจะเป็นของหุ้น MCS นั้น เราจะใช้ข้อมูล กำไรของผู้ถือหุ้น หรือ owner's earning ในอดีตของ MCS เท่าที่มีอยู่มาทำการประมาณว่า ค่า owner's earning ของ MCS ในอนาคต 10 ปีต่อจากนี้ไปควรเป็นเช่นไร แล้วจึงแปลงมูลค่า owner's earning คาดหมายของแต่ละปีในอนาคตกลับมาเป็นมูลค่าในปัจจุบัน และพิจารณาว่าที่ราคาหุ้นขณะนี้ MCS ยังน่าสนใจลงทุนหรือไม่อย่างไร สมมุติเราเริ่มจากข้อมูล owner's earning รายไตรมาสของ MCS ตามตารางนี้

                       (คลิกภาพเพื่อขยาย)

จากตารางจะเห็นว่า owner's earning ที่ MCS ทำได้มีลักษณะไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงบวกลบสลับกันไปเป็นช่วง ๆ ทำให้คาดการณ์แนวโน้มได้ยาก ดังนั้นแทนที่จะดูข้อมูลแยกย่อยของแต่ละไตรมาส เราจะดูเป็นกำไรของผู้ถือหุ้นสะสมแทน ซึ่งจะทำให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกำไรของผู้ถือหุ้นได้ดีขึ้น ตารางและกราฟต่อไปนี้แสดงข้อมูลแบบสะสม

                            (คลิกภาพเพื่อขยาย)


จะสังเกตว่าเราสามารถมองเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของ owner's earning ได้ในกราฟซึ่งแม้ว่าจะมีการกระเพื่อมขึ้นลงแต่ยังคงประมาณได้ว่า owner's earning ในอนาคตควรเป็นอย่างไร ในการนี้เราจะใช้เทคนิคทางสถิติเข้าช่วย เรียกว่าเทคนิค regression ซึ่งมีหลักการว่า หากเรากำหนดสมการขึ้นมาสมการหนึ่งเพื่อแทนชุดข้อมูลในกราฟดังรูปข้างบน สมการนั้นจะต้องลากผ่านจุดข้อมูลให้ได้ภาพรวมที่ดีที่สุดที่จะใช้แทนข้อมูลทั้งชุด เมื่อได้สมการนี้แล้ว เราจะใช้สมการเป็นตัวทำนาย ค่า owner's earning สะสมของช่วง 10 ปีข้างหน้า แล้วรวมตัวเลขคาดหมายที่ได้เป็นแบบรายปีเพื่อเอาไปแปลงค่ากลับมาเป็นค่าปัจจุบันอีกที กระบวนการ regression สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยโปรแกรม excel ดังนี้
  1. กรอกข้อมูล cumulative owner's earning รายไตรมาสใน excel โดยให้คอลัมน์เป็นเลขจำนวนเต็มจาก 1 ขึ้นไป
  2. สร้างกราฟแบบ scatter จากข้อมูลที่กรอก โดยแสดงข้อมูลเป็นจุดไม่ต่อเนื่อง
  3. เพิ่ม trend line โดยใช้แบบ Polynomial กำลัง 2 และเลือก option ที่ให้แสดงค่าสมการและความมั่นใจ R2
จะได้กราฟดังรูปข้างล่างซึ่งเส้นแนวโน้มในกราฟคือ สมการ y = 0.0072x2 + 0.0329x + 0.838 และเราใช้สมการข้างต้นแทนชุดข้อมูล owner's earning รายไตรมาสของ MCS ได้ด้วยความมั่นใจ 90.69%

                             (คลิกภาพเพื่อขยาย)

เมื่อได้สมการของ cumulative owner's earning แล้ว จึงเอาไปทำนายค่าสำหรับไตรมาสต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตครอบคลุมไปถึงในอนาคต 10 ปีข้างหน้า ดังแสดงในกราฟข้างล่าง ซึ่งแกนนอนเป็นไตรมาสที่ แกนตั้งเป็น cumulative owner's earning เป็นได้ว่าเส้นกราฟสีเขียวสามารถใช้แทนข้อมูล cumulative owner's earning ได้ดีค่อนข้างดี


ต่อไปให้ใช้สมการ cumulative owner's earning (Q) = 0.0072Q^2 + 0.0329Q + 0.838 เพื่อหาค่า cumulative owner's earning ณ แต่ละไตรมาสในอนาคต 10 ปี แล้วแบ่งกลุ่มผลลัพธ์ที่ได้ออกเป็นกลุ่มละ 4 ไตรมาส เมื่อเอาค่าของไตรมาสสุดท้ายของแต่ละกลุ่มไปลบออกจากค่าของไตรมาสสุดท้ายของกลุ่มก่อนหน้า จะได้ค่าของ owner's earning ที่คาดว่าจะทำได้ในปีนั้น ออกมา ทำเช่นนี้จนครบ 10 ปี ในอนาคต


จุดข้อมูลในกราฟคือค่า owner's earning ที่ได้ออกมาทุก ๆ สี่ไตรมาส แต่แกนนอนในกราฟและในสมการยังคงเป็นไตรมาสที่อยู่ ดังนั้นจึงทำการคูณตลอดสมการด้วย 4 ทำให้ได้สมการของ owner's earning รายปีที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสำหรับหุ้น MCS คือ 

Estimated owner's earning (Y) = 0.2304Y + 0.0656 ; โดยที่ Y = 6 คือปีปัจจุบัน

เมื่อนำสมการนี้ไปทำนาย owner's earning ของ MCS ในช่วง 10 ปีข้างหน้า (Y = 7-16) จะได้กราฟเส้นสีเขียวดังรูปข้างล่าง ในกราฟนี้ จุดสีน้ำเงินคือข้อมูล owner's earning แบบ trailing twelve month ที่เกิดขึ้นแล้ว คือรวมกลุ่มไตรมาสทุกสี่ไตรมาสเข้าด้วยกันเป็นรายปี เริ่มจากไตรมาสล่าสุด (2011Q1) ย้อนหลังไป การใช้ข้อมูลรายปีแบบ trailing twelve month มีข้อดีคือผลประกอบการทุกไตรมาสที่ทยอยประกาศออกมาจะถูกนำมารวมเป็นข้อมูลรายปีใหม่ทุกครั้ง ทำให้ไม่ต้องรอครบทั้งปีก่อนจึงจะได้ข้อมูลรายปีออกมา ทำให้ตัดสินใจลงทุนได้อย่างทันท่วงทีกว่าการใช้ข้อมูลรายปีตามปฏิทิน


จากกราฟข้างบนจะเห็นว่าจุดข้อมูล owner's earning ปีล่าสุดของ MCS มีค่าติดลบ ทำให้การประมาณค่าของ owner's earning ในอนาคตมีความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป จุดข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงจะทยอยประกาศออกมา เมื่อทำการปรับสมการไปเรื่อย ๆ ความไม่แน่นอนที่มีอยู่มากในขณะนี้จะทยอยลดลงไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่มีอยู่และสมการที่เราหาได้ ยังคงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในขณะนี้ 

ในการหามูลค่าหุ้นของ MCS กำหนดให้ owner's earning ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตปีที่ 1-10 เป็นไปตามสมการ Estimated owner's earning (Y) = 0.2304Y + 0.0656 และปีที่ 11 เป็นต้นไปค่า owner's earning มีการเติบโตด้วยอัตรา 4% เราจะได้ข้อมูล owner's earning คาดหมายดังตารางข้างล่าง จากตารางจะพบว่าอัตราการเติบโตของ owner's earning คาดหมายจะเริ่มจาก 15.91% ในปีที่ 1 แล้วทยอยลดลงไปจนถึง 6.54% ในปีที่ 10 นับว่าเป็นการเจริญเติบโตของกิจการที่สมเหตุสมผลไม่รวดเร็วเกินไป เมื่อได้ค่า owner's earning ของแต่ละปีในอนาคตแล้วจึงแปลงมูลค่า owner's earning ของปีนั้น ๆ มาเป็นมูลค่าในปัจจุบัน ด้วยอัตราต้นทุนทางการเงิน 9% (ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 5% + เงินเฟ้อ 4%) จะได้มูลค่าของ MCS เท่ากับ 49.35 บาทต่อหุ้น (ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 139 ปี ในการรวบรวม owner's earning จนครบ 49.35 บาท แต่เนื่องจากค่าน้ำหนักของ owner's earning จะลดลงตามเวลา ดังนั้นถ้าพิจารณาเพียงครึ่งหนึ่งของมูลค่า 49.35 บาท หรือ 24.68 บาท จะใช้เวลารวบรวมมูลค่าเพียง 16.17 ปี ) และเพื่อการเปรียบเทียบถ้าเราใช้อัตราต้นทุนทางการเงินอื่น ๆ จาก 6% ไปจนถึง 18% จะได้มููลค่าหุ้นในช่วง 127.85 ถึง 16.18 บาทต่อหุ้น

            (คลิกภาพเพื่อขยาย)

ถ้าใช้อัตราต้นทุนทางการเงิน 9% MCS น่าจะมีมูลค่าของกำไรของผู้ถือหุ้นในอนาคต คิดย้อนกลับมาเป็นมูลค่าในปัจจุบันเท่ากับ 49.35 บาทต่อหุ้น ดังนั้น การเข้าลงทุนซื้อหุ้น MCS ภายใต้การคาดการณ์ข้างต้น ที่ราคา 10.60 บาท ถือว่ามีส่วนลด 100*(49.35-10.60)/49.35 = 78.52% ในการรวบรวมกำไรของผู้ถือหุ้นให้ได้ครึ่งหนึ่งของมูลค่า 49.35 บาท ดังที่ได้ทำมา จะต้องใช้เวลาทั้งสิ้น 16.17 ปี ดังนั้นมูลค่าที่หาได้ดังกล่าวผมไม่สามารถบอกว่าจริง ๆ แล้วราคาหุ้นจะไปถึงค่านี้ภายในกี่ปีครับ


การประเมินคุณค่าหุ้นอย่างง่าย

ต่อไปผมพิจารณาคุณค่าของหุ้น MCS ในแง่ของราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E) ราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (P/B) และอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) โดยใช้ข้อมูลดังนี้
  • กำไรต่อหุ้น (Earning) คิดเป็นรายปี โดยรวมกำไรต่อหุ้นของ 4 ไตรมาส (12 เดือน) ล่าสุด หรือที่เรียกว่า trailing twelve month (ttm) จาก 2010Q2-2011Q1 ได้ 1.51 บาทต่อหุ้น
  • มูลค่าทางบัญชี (Book value) = มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (Net asset value) = ส่วนของผู้ถือหุ้น (Share holder's equity) =  ได้ 4.38 บาท
  • อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) = ttm-Earning / NAV
กำหนดราคาหุ้นในช่วง 5 ถึง 30 บาท จะได้ข้อมูลคุณค่าหุ้นเบื้องต้นดังนี้

                                (คลิกภาพเพื่อขยาย)

ราคาหุ้น MCS ในปัจจุบันอยู่ประมาณ 10 บาท ซึ่งได้ P/B 2.3 เท่า P/E 6.6 เท่า เทียบได้กับการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ดอกเบี้ย 15.1% นับว่าเป็นระดับการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีมาก ถ้าราคาหุ้นจะขึ้นไปถึง 15 บาท P/B และ P/E จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 เท่า และ 9.9 เท่าตามลำดับ นับว่ายังสมเหตุสมผลอยู่ดี ROE 34.56 % หมายถึง ถ้าผู้ถือหุ้นเอาเงิน 100 บาท มาลงทุนในกิจการนี้ จะมีกำไร 34.56 บาท ซึ่งนับว่าสูงมาก
          โดยรวมผมคิดว่าราคาของหุ้น MCS จะสามารถไต่ระดับขึ้นไปได้อีกหลังจากมีการย่ำฐานที่ระดับ 10-12 บาทได้แน่นดีแล้ว ทั้งนี้เราต้องคอยติดตามปรับปรุงข้อมูลผลประกอบการของไตรมาสต่อ ๆ ไปเพื่อเฝ้าดูพื้นฐานของหุ้นไปเรื่อย ๆ ในขณะนี้แนวโน้มยังดูดีอยู่ครับ
          เมื่อลองส่องให้เห็นภาพที่ทุกคนไม่อยากให้เกิด ด้วยคำถามที่ว่า ถ้า MCS เกิดเจ๊งขึ้นมาตอนนี้ ผู้ถือหุ้นจะได้เงินคืนเท่าไร ? สมมุติว่าหุ้นทั้งหมดของ MCS เป็นหุ้นสามัญ ถ้าบริษัทเลิกกิจการ ขายสินทรัพย์และชำระหนี้ทั้งหมดที่มีอยู่ แล้วเอาเงินสดที่เหลืออยู่จ่ายคืนผู้ถือหุ้น การดำเนินการดังกล่าวเขียนเป็นสมการได้ว่า สินทรัพย์ - หนี้สิน = ส่วนของผู้ถือหุ้น = มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) = มูลค่าทางบัญชี (book value) จากตารางข้างบน ปัจจุบันกิจการมี NAV หุ้นละ 4.38 บาท ดังนั้นอย่างน้อยเราจะได้เงินคืน 4.38 บาทต่อหุ้นครับ

===============================================================

ติดตาม "ลงทุนหุ้นไทย" ที่    facebook.com/thstockinvest    twitter.com/thstockinvest 

เรียนรู้การดูกราฟหุ้นทางเทคนิคได้ที่ Free Stock Technical Analysis Tutorial

หาเพื่อนนักลงทุนในกลุ่มสนทนา  ชำแหละพื้นฐานหุ้น