กราฟรายสัปดาห์ของ BANPU แสดงการปรับฐานราคาที่ดำเนินมากว่า 8 เดือน บัดนี้ราคาหุ้นได้ลดลงมาจนถึงแนวรับสำคัญ แถว ๆ 656 บาท และเป็นแนวต้านซึ่งแข็งแกร่งมากของปี 2010 ที่ต้องใช้เวลากว่า 8 เดือนจึงฝ่าไปได้ นอกจากที่ระดับนี้ จะเป็นแนวต้านสำคัญของปีที่แล้ว และเป็นแนวรับสำคัญของปีนี้ ราคาหุ้นยังถูกทุบลงมาแตะเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 100 สัปดาห์ (SMA100W) บริเวณ 656 บาทพอดีอีกด้วย (ก่อนที่จะเด้งกลับไปปิดที่ 658 บาท) เมื่อพิจารณาสัญญาณ RSI พบว่า ได้ลดลงเหลือ 35.67% เข้าเขตขายมากเกินไป (oversold) แล้ว ถ้าราคาหุ้นสามารถยืนเหนือระดับ SMA100W นี้ได้ น่าจะเป็นการสิ้นสุดการพักฐานในรอบนี้แล้วครับ แต่หากหลุดแนวเส้นนี้ลงไป แนวรับถัดไปจะอยู่ที่ประมาณ 500 บาท ตรงกับเส้น SMA200W และแนวต้านเดิมของปี 2008 ก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในความเห็นส่วนตัวของผมคิดว่าไม่น่าจะหลุดลงไปถึงระดับนั้นได้ครับ
จากการพิจารณากราฟหุ้นหลายตัวในการปรับฐานราคาหลาย ๆ ครั้ง ผมสังเกตได้ว่าก่อนการพุ่งทะยานขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ ราคาหุ้นจะต้องพยายามฝ่าแนวต้านที่มักจะเป็นจุดสูงสุดเดิมของรอบก่อนด้วยการทดสอบหลายครั้ง เมื่อผ่านขึ้นไปได้จะพุ่งแรงและทำจุดสูงสุดใหม่ จากนั้นจะซึมยาวลงมาจนถึงจุดแนวต้านเดิมที่เพิ่งฝ่าพ้นมาได้ แล้วจึงจะสามารถขึ้นไปใหม่อีกครั้ง ในกราฟข้างบน หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ราคาหุ้นได้ไต่ระดับย้อนขึ้นไปสู่ระดับก่อนวิกฤติอย่างรวดเร็วตลอดปี 2009 เมื่อผ่านจุดสูงสุดรอบก่อนที่ราคา 500 บาทไปได้ไม่นาน ก็ขึ้นไปสู่ระดับ 656 บาท แล้วจึงย้อนลงมาพักที่ 500 บาทและไต่ไปวิ่งเหยาะ ๆ อยู่กับที่ ณ 656 บาทอยู่หลายเดือนกว่าที่จะผ่านไปได้ ทำให้ระดับราคา 656 บาท กลายเป็นแนวต้านสำคัญที่จะต้องย้อนกลับมาแวะก่อนอีกครั้งในอนาคต หลังจากผ่านแนวต้านสำคัญนั้นมาได้ ราคาหุ้นได้พุ่งไปทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 868 บาท เมื่อปลายปี 2010 ก่อนจะซึมลงยาว 8 เดือนจนลงมาแตะระดับแนวต้านสำคัญเก่า หรือเป็นแนวรับสำคัญใหม่ที่ระดับ 656 บาทในปัจจุบัน ข้อคิดสำหรับนักลงทุนที่มีวงเงินมาร์จิ้นซึ่งสามารถยืมเงินจากโบรกเกอร์มาซื้อหุ้นได้คือ เมื่อหุ้นสามารถฝ่าแนวต้านสำคัญขึ้นไปได้ควรเข้าซื้อตามน้ำด้วยเงินกู้แล้วปล่อยให้วิ่งจนขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ (จุดนี้สังเกตได้บริเวณปลายปี 2010 ปริมาณซื้อขายค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่ราคาหุ้นเคลื่อนออกด้านข้าง แล้วทันใดนั้นก็มีปริมาณซื้อขายเข้ามาเป็นสองเท่าของสัปดาห์ก่อน พร้อมกับการพุ่งทำราคาสูงสุดใหม่ ตรงกับที่คุณวิชัย วชิรพงศ์ บอกไว้ว่า วอลลุ่มพีค ราคาพีค) เมื่อเกิดสัญญาณ พีค ดังกล่าวแล้ว เราควรขายหุ้นในส่วนที่ใช้เงินกู้มาซื้อที่ระดับราคาตั้งแต่แนวต้านสำคัญเดิม (656 บาท) ขึ้นไป เก็บส่วนที่ซื้อมาด้วยราคาต่ำกว่านี้เอาไว้เป็นทุนเพื่อกินปันผล จากนั้นจึงรอให้หุ้นซึมลงมาถึงแนวรับสำคัญซึ่งก็คือแนวต้านสำคัญของรอบก่อนหน้า จึงเข้าสะสมหุ้นเพิ่มเติมอีกครั้ง ตามแผนการลงทุนนี้ เราจะสามารถเข้าซื้อหุ้นเมื่อผ่านแนวต้านสำคัญไปได้เป็นจำนวนมากกว่าเงินสดที่มีอยู่ด้วยเงินกู้ (มีดอกเบี้ย) ขายส่วนที่ได้มาใหม่ดังกล่าวเมื่อสังเกตเห็น วอลลุ่มพีค ราคาพีค (ต้องเห็น ไม่งั้นพัง) เมื่อเห็นสัญญาณแล้วก็ขายส่วนเกินใช้หนี้ดอกเบี้ย และเก็บกำไรที่เหลือเป็นเงินสดรอโอกาสซึมลงมาแตะแนวรับสำคัญเพื่อเข้าซื้อสะสมในหุ้นตัวนี้อีกครั้ง หรือเอาเงินไปลงตัวใหม่ที่อาจจะมีโอกาสงาม ๆ มาในระหว่างรอน้ัน สำหรับหุ้นบ้านปู การซึมลงมาหาแนวรับสำคัญหรือแนวต้านสำคัญเดิมที่ 656 บาทนี้ใช้เวลา 8 เดือนแล้ว หากนักลงทุนไม่ขายทำกำไรตอนวอลลุ่มพีค ราคาพีค ก็จะมีภาระดอกเบี้ยจากเงินกู้มาร์จิ้นมากพอสมควร และเสียโอกาสการมีเงินสดเพื่อนำมาลงทุนเพิ่มเติมอีกด้วย
เพื่อนนักลงทุนควรสังเกตลักษณะการพักฐานราคาของหุ้นตัวอื่น ๆ อีกจะเห็นแนวโน้มความเป็นไปคล้ายหุ้นบ้านปู ตัวอย่างเช่นการพักฐานของ CK (ดูที่นี่) เป็นต้นครับ
====================================================================
ติดตาม "ลงทุนหุ้นไทย" ที่ facebook.com/thstockinvest twitter.com/thstockinvest
เรียนรู้การดูกราฟหุ้นทางเทคนิคได้ที่ Free Stock Technical Analysis Tutorial
หาเพื่อนนักลงทุนในกลุ่มสนทนา " ชำแหละพื้นฐานหุ้น
เก็บความรู้ลงกล่อง " ผ่างบการเงิน ชำแหละพื้นฐานหุ้น ลงทุนถูกเวลา"
เก็บความรู้ลงกล่อง " ผ่างบการเงิน ชำแหละพื้นฐานหุ้น ลงทุนถูกเวลา"