ในรอบปีที่ผ่านมา ผมสังเกตในกราฟราคาหุ้นรายสัปดาห์ของ IVL เห็นมีบริเวณที่ราคาหุ้นไต่ขึ้นไปทำจุดสูงสุดอย่างชัดเจนสองแห่ง คือประมาณปลายปี 2010 ต่อต้นปี 2011 และบริเวณเดือนเมษายน 2011 ทั้งสองบริเวณนี้มีจุดที่น่าสนใจคือ กราฟแท่งฮิสโตแกรมของสัญญาณ MACD เคลื่อนเข้าสู่แกนศูนย์ ในทั้งสองจุดนี้ กราฟแท่งเทียนได้เกิดรูปแบบที่แสดงจุดเปลี่ยนแนวโน้มของราคาหุ้น จากขาขึ้นไปเป็นขาลง ในลักษณะที่เรียกว่า bearish engulfing แสดงด้วยแท่งเทียนสองแท่งที่ผมล้อมกรอบไว้ด้วยวงกลมสีแดง แท่งเทียนแท่งแรก เป็นแท่งสีขาว ซึ่งแสดงการเปิดตลาดเมื่อต้นสัปดาห์ด้วยราคาต่ำ และขึ้นไปปิดตลาดเมื่อปลายสัปดาห์ด้วยราคาที่สูงขึ้น ตามมาด้วยแท่งเทียนสีดำ ที่เปิดตลาดเมื่อต้นสัปดาห์ฺด้วยราคาที่สูงกว่าราคาปิดของสัปดาห์ก่อนหน้า แต่กลับปิดลงเมื่อปลายสัปดาห์ที่ราคาต่ำกว่าราคาเปิดของสัปดาห์ก่อนหน้าเสียอีก ดูคล้ายกับแท่งเทียนสีขาวทางซ้ายถูกโอบล้อมด้วยแท่งเทียนสีดำทางขวา และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการปรากฎตัวของแท่งเทียนรูปแบบ bearish engulfing ที่เห็นได้ในกราฟคือการเปลี่ยนแนวโน้มราคาหุ้นเป็นขาลง
หลังจากที่ราคาหุ้น IVL ได้ปรับตัวลงอย่างมาก ลงไปสู่ระดับราคาประมาณ 24 บาท เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2011 แล้วได้รีบาวน์ขึ้นมาตลอดทั้งเดือน ในปัจจุบัน ผมได้สังเกตเห็นว่า มีแท่งเทียนรูปแบบ bearish engulfing ปรากฎขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นบริเวณที่แท่งกราฟฮีสโตแกรมของสัญญาณ MACD เคลื่อนเข้าสู่แกนศูนย์เช่นเดียวกันกับที่เกิดกับสองครั้งก่อนหน้า (แท่งเทียนสีขาวทางซ้ายถูกโอบล้อมด้วยแท่งเทียนสีดำทางขวา) ประกอบกับการที่ราคาหุ้นได้เคลื่อนเข้าใกล้แนวต้านที่เป็นจุดต่ำสุดเดิมเมื่อปลายเดือนมกราคม 2011 ลักษณะเช่นนี้ทำให้ผมมีความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่ราคาหุ้น IVL จะย้อนกลับลงไปทดสอบแนวรับล่าสุดที่ ประมาณราคา 24 บาท อีกครั้งหนึ่งเพื่อสร้างเป็นรูปกราฟแบบ double bottom ก่อนที่จะวิ่งขึ้นไปยาว ๆ อีกครั้งด้วยความมั่นใจกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้
กราฟรายวัน
สำหรับในกราฟราคาหุ้นรายวันของ IVL จะสังเกตได้ว่า ราคาหุ้นได้ไต่ขึ้นไปชนเส้นแนวโน้มขาลง (สีชมพูเฉียงลงทางขวา) ที่ลากเชื่อมต่อจุดสูงสุดของราคาหุ้นเมื่อเดือนเมษายน 2011 เดือนกรกฎาคม 2011 และเดือนตุลาคม 2011 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถ้าเราลองย้อนกลับไปดูสัญญาณ MACD บริเวณใกล้เคียงกับจุดสูงสุดดังกล่าวจะพบว่า เกิดการตัดกันแบบขาลงของเส้น MACD(26,12) สีแดง กับเส้น Signal(9) สีน้ำเงิน หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งได้ว่า แท่งกราฟ MACD histogram มีความสูงไปทางด้านบวก และมีความสูงน้อยลงเรื่อย ๆ จนพร้อมจะเปลี่ยนไปมีความสูงทางด้านลบแทน (ความสูงของ MACD histogram หาจาก ค่าของเส้น MACD ลบด้วยค่าของเส้น Signal) ลักษณะเช่นนี้แสดงการอ่อนกำลังลงของการแรลลี่และมักตามมาด้วยการปรับฐานของราคาหุ้น ครับ
=============================================
ติดตาม "ลงทุนหุ้นไทย" ที่
ติดตาม "ลงทุนหุ้นไทย" ที่
เรียนรู้การดูกราฟหุ้นทางเทคนิคได้ที่ Free Stock Technical Analysis Tutorial
หาเพื่อนนักลงทุนในกลุ่มสนทนา " ชำแหละพื้นฐานหุ้น"
เก็บความรู้ลงกล่อง " ผ่างบการเงิน ชำแหละพื้นฐานหุ้น ลงทุนถูกเวลา"