Friday, September 16, 2011

รวมข้อคิดการลงทุนแบบ ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนสูง ของโมห์นิศ ปะไพร

     ผมอ่านหนังสือ The Dhandho Investor: The Low-Risk Value Method to High Returns ของ Mohnish Pabrai แปลเป็นภาษาไทยโดย พรชัย  รัตนนนทชัยสุข ได้ข้อคิดต่อไปนี้ครับ
  • ลงทุนในกิจการที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงต่ำ เหมือนการโยนเหรียญแบบ "ออกหัว ผมได้เงิน ออกก้อย ผมเสียเงินนิดหน่อย"

  • ลงทุนในกิจการที่มีการดำเนินงานอยู่แล้ว ไม่เป็นกิจการที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ มีความเรียบง่าย อยู่ในอุตสาหกรรมซึ่งกำลังประสบภาวะยากลำบาก มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันที่ยั่งยืน เป็นกิจการที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่มีความไม่แน่นอนสูง

  • เข้าลงทุนในกิจการน้อยราย เดิมพันหนัก ๆ ไม่เดิมพันบ่อย มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยเสมอ

  • ในประวัติศาสตร์ เจ้าผู้ครองนครจะสร้างปราสาทอันแข็งแกร่ง ซึ่งล้อมรอบด้วยคูเมืองที่ทั้งกว้างทั้งลึก ขณะเดียวกัน ผู้รุกรานก็พยายามโจมตีอย่างไม่ลดละ ทั้งปรับปรุงอาวุธ เทคนิค และกองกำลัง เพื่อจะเข้ายึดครองปราสาทให้ได้ มันเป็นกฎธรรมชาติเลยว่า ไม่ว่าปราสาทจะแข็งแรงและได้รับการปกป้องดีเพียงใด ไม่ว่าคูเมืองจะกว้างและลึกขนาดไหน ไม่ว่าในคูเมืองจะมีปลาฉลามและปลาปิรันยาจำนวนมากมายเท่าไร สุดท้ายแล้ว ผู้รุกรานก็จะโจมตีเป็นผลสำเร็จ สุดท้ายแล้วอาณาจักรและชนชาติที่ยิ่งใหญ่ก็จะล่มสลาย

  • ความได้เปรียบเชิงแข่งขันแบบถาวรไม่มีอยู่จริง แม้กระทั่งสุดยอดธุรกิจก็จะค่อย ๆ อ่อนแอและล้มหายตายจากไปในที่สุด ด้วยเหตุนี้ การหามูลค่าของธุรกิจเราจึงไม่ควรคำนวณกระแสเงินสดคิดลดนานเกิน 10 ปี และไม่ควรคาดว่า ราคาขายของธุรกิจในปีที่ 10 จะสูงกว่า 15 เท่าของกระแสเงินสดในขณะนั้น

  • มองหาโอกาสทำอาร์บิทราจเสมอ คุณจะสามารถสร้างผลตอบแทนสูง ๆ ได้โดยไม่มีความเสี่ยงเลย
    • ทำกำไรจากราคาที่ต่างกันของสินค้าแบบเดียวกันหรือคล้ายกัน (commodity arbitrage)
    • ทำกำไรจากราคาที่ต่างกันของหุ้นที่เกี่ยวข้องกัน (correlated stock arbitrage)
    • ทำกำไรจากราคาที่ต่างกันของหุ้นก่อนและหลังการควบรวมกิจการ (merger arbitrage)
    • เข้าลงทุนในกิจการที่ใช้ประโยชน์จากช่องว่างหรือโอกาสทางธุรกิจที่เปิดขึ้น มองหาช่องว่างที่อยู่ได้นานหลายปี ก่อนที่มันจะปิดตัวลงในที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น

  • เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติแบบชั่วคราวซึ่งทำให้ราคาหุ้นของกิจการที่ดีตกลงมาอย่างมาก ทุกครั้งที่ผมเข้าลงทุน ผมจะตั้งสมมุติฐานว่า ส่วนต่างระหว่างมูลค่าที่แท้จริงของกิจการและราคาตลาดของหุ้น จะหายไปในเวลาไม่เกินสามปี จากประสบการณ์การลงทุนของผม ส่วนใหญ่แล้วส่วนต่างที่ว่าจะหายไปภายใน 18 เดือน

  • ใช้ Kelly formula กำหนดสัดส่วนเงินลงทุนที่สูงที่สุดของแต่ละการลงทุน จากนั้นทำการ normalize ลงเป็น 100% ของเงินลงทุนที่มีทั้งหมดในพอร์ต

  • การจำกัดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด และขยายผลตอบแทนให้อยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นแนวคิดอันทรงพลัง ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ จะมีการซื้อขายสินทรัพย์กันที่ราคาใกล้เคียงกับมูลค่าที่แท้จริงหรือสูงกว่า หัวใจสำคัญก็คือ การรอคอยโอกาสเข้าลงทุนอย่างอดทน

  • ในบางครั้ง ตลาดหุ้นเกิดความสับสนระหว่างความเสี่ยงและความไม่แน่นอน คุณสามารถหากำไรจากความสับสนที่ว่านี้ได้ ตลาดเกลียดความไม่แน่นอน และจะแสดงความเกลียดโดยการเทขายหุ้น ต่อไปนี้คือสถานการณ์ซึ่งน่าจะทำให้ราคาหุ้นตกต่ำ: 
    • ความเสี่ยงสูง ความไม่แน่นอนต่ำ
    • ความเสี่ยงสูง ความไม่แน่นอนสูง
    • ความเสี่ยงต่ำ ความไม่แน่นอนต่ำ
    • ความเสี่ยงต่ำ ความไม่แน่นอนสูง (เหมือนการโยนเหรียญที่ออกหัว ผมได้เงิน ออกก้อย ผมเสียเงินนิดหน่อย) นักลงทุนควรมองหาการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำแต่มีความไม่แน่นอนสูง

  • เข้าตรวจสอบหุ้นที่จ่ายปันผลสูง ๆ และหุ้นที่มี PE และราคาหุ้นต่ำที่สุดในรอบ 52 สัปดาห์

  • ความกลัวและความโลภเป็นอารมณ์พื้นฐานของคนเรา และเมื่อมนุษย์เป็นผู้ตัดสินใจซื้อขายหุ้น ราคาหุ้นก็จะได้รับอิทธิพลจากความกลัวและความโลภอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อความกลัวสุดขีดคืบคลานเข้ามา พฤติกรรมก็จะดำเนินไปแบบไร้เหตุผล ในสถานการณ์แบบนั้น ตลาดหุ้นจะมีลักษณะคล้ายกับโรงภาพยนต์ที่มีคนเต็มโรง พอใครบางคนตะโกนว่า "ไฟไหม้ ไฟไหม้" คนก็จะกรูกันไปที่ทางออก ในโรงภาพยนต์ที่เรียกว่า ตลาดหุ้น คุณจะออกได้ก็ต่อเมื่อมีคนซื้อที่นั่งต่อจากคุณ และถ้ามีการตื่นตระหนก คุณคิดว่า ราคาของที่นั่งจะเป็นอย่างไร ? เคล็ดลับก็คือ ให้ซื้อที่นั่งในโรงภาพยนต์ที่มีการหนีตาย แต่คุณรู้ว่า ไม่ได้มีไฟไหม้จริง หรือไฟกำลังมอดลงแล้ว อ่านมาก ๆ และรอคอยอย่างอดทน โอกาสการลงทุนดี ๆ แบบนี้จะเกิดขึ้นแน่ ๆ

  • ระหว่างผู้คิดค้นกับผู้ลอกเลียนแบบ ผมเลือกลงทุนกับผู้ลอกเลียนแบบ เพราะนวัตกรรมมีความเสี่ยงและคาดการณ์ไม่ได้  แต่การลงทุนในธุรกิจที่ลอกเลียนแบบ และนำนวัตกรรมจากแหล่งอื่น ๆมาใช้ จะมีความแน่นอนและให้ผลตอบแทนดี

  • ตอนที่ลักษมี มิตตาลซื้อสินทรัพย์มาในราคาถูก ๆ และทำการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน เขามีข้อได้เปรียบอย่างยั่งยืนเนื่องจาก:
    • มีต้นทุนต่ำ (เข้าซื้อกิจการเหล็กที่มีปัญหาทั่วโลกในราคาต่ำ)
    • เขาอาร์บิทราจไปทั่วโลกในเรื่องแรงงาน วัตถุดิบ ต้นทุนพลังงาน และราคาขายที่สูงที่สุด โดยการมีโรงงานอยู่ในหลายพื่นที่ เขาสามารถกำหนดประเภทและปริมาณของเหล็กที่จะทำการผลิตในแต่ละพื้นที่ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
    • เกิดเครือข่ายขนาดใหญ่และแบรนด์ โดยที่ปริมาณและกำลังการผลิตของเขาทำให้สามารถต่อรองเงื่อนไขกับซัพพลายเออร์และลูกค้าได้ดีกว่าคู่แข่ง ซึ่งยิ่งทำให้ต้นทุนของเขาลดลงไปอีก
        
  • ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นตัวใด นักลงทุนควรถามตัวเองก่อนว่า
    1. เป็นธุรกิจที่เราเข้าใจและอยู่ในข่ายความสามารถของเราใช่หรือไม่
    2. เรารู้มูลค่าที่แท้จริงในปัจจุบันของธุรกิจนี้หรือไม่ ? ในอีกสองสามปีข้างหน้ามูลค่าที่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่อย่างไร ?
    3. ราคาของธุรกิจมีส่วนลดจากมูลค่าที่แท้จริงในปัจจุบัน และในอีกสองสามปีข้างหน้าหรือไม่ ? ส่วนลดที่ว่าสูงกว่า 50% หรือไม่ ?
    4. เรากล้าเอาเงินในสัดส่วนที่มาก ไปซื้อธุรกิจนี้หรือไม่ ?
    5. ความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำมากใช่หรือไม่ ?
    6. ธุรกิจมีความได้เปรียบเชิงแข่งขันที่ยั่งยืนหรือไม่ ?
    7. ผู้บริหารซื่อสัตย์และมีความสามารถใช่หรือไม่ ?

    ถ้าไม่ได้คำตอบว่า "ใช่" ทั้งหมด ให้มองข้ามไป และรอคอยโอกาสที่ดีกว่า
      
  • ก่อนจะซื้อหุ้น เราต้องมีแผนการขายหุ้นที่ชัดเจน

Short URL =  http://bit.ly/qR7Eqy

===================================================
ผ่างบการเงิน ชำแหละพื้นฐานหุ้น ลงทุนถูกเวลา รักษาต้นทุน นำหนุนกระแสเงินสด

มูลค่าที่แท้จริงของหุ้น = มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ + มูลค่าปัจจุบันของ [ มูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่เพิ่มขึ้นและเงินปันผลรับระหว่างถือหุ้น 10 ปี ]

ค้นหา "ลงทุนหุ้นไทย"

หาเพื่อนนักลงทุนในกลุ่มสนทนา " ชำแหละพื้นฐานหุ้น"