มีเพื่อนนักลงทุนถามผมว่า ได้อ่านชำแหละพื้นฐานหุ้น IVL ที่ผมทำเอาไว้แล้ว อยากทราบว่า ที่ราคา 33 บาท ควรเข้าเก็บได้หรือยัง ? ผมจะไม่ขอตอบว่าเข้า หรือไม่เข้านะครับ แต่ให้เพื่อน ๆ พิจารณาข้อมูลกันเอาเอง ตามที่ผมเคยหามูลค่าที่แท้จริงของ IVL ด้วยข้อมูลที่ยังไม่รวมผลประกอบการ 2011Q2 ด้วยวิธีการ DCF โดยประเมินแนวโน้มผลประกอบการด้วย data regression (เอากระแสเงินสดในอนาคตจากนี้เป็นเวลาร้อยกว่าปี มาคิดลดเป็นมูลค่าปัจจุบันเทียบกับอัตราผลตอบแทน 9%) ได้มูลค่าที่แท้จริง 93 บาท ต่อมาผมได้อ่าน Dhundho Investors ของ Mohnish Pabrai ได้ความรู้เพิ่มว่าไม่ควรประเมินแนวโน้มกระแสเงินสดของกิจการไปในอนาคตเกิน 10 ปี และในปีสุดท้าย ให้สมมุติว่า เราได้ขายบริษัททิ้งไปทั้งหมดในราคาเท่ากับ 10-15 เท่าของกระแสเงินสดในปีที่ 10 นั้น ผมกำลังจะปรับปรุงวิธีการหามูลค่าที่แท้จริงตามที่ Monish Pabrai แนะนำนี้ โดยเอามารวมกับ data regression ที่ผมคิดเอามาประยุกต์ใช้ในการหามูลค่ากิจการที่แท้จริง หรือที่ควรจะเป็น (ไม่ทราบเป็นคนแรกหรือเปล่า แต่ผมริเริ่มเอามาใช้ของผมเอง) ซึ่งเมื่อเสร็จแล้วจะเอามาแชร์อีกทีครับ เมื่อยังไม่มีข้อมูลใหม่ ก็คงต้องใช้ของเดิมไปก่อน แต่ค่า 93 บาท นี้ย่อมถือได้ว่าคิดแบบมองโลกในแง่ดีค่อนข้างมากครับ เปรียบเทียบกับคำแนะนำของโบรกเกอร์ต่าง ๆ ที่ให้มูลค่าไว้ที่ 71 บาท บ้าง 60 บาทบ้าง แล้วแต่มุมมองของแต่ละคนครับ ที่ราคา IVL ปัจจุบัน 33 บาท เมื่อคิดเทียบกับมูลค่าที่แท้จริง 60 บาท 71 บาท และ 93 บาท จะคิดเป็นเปอร์เซนต์ ได้ [33/60 = 55%] [33/71 = 46%] และ [33/93 = 35%] ตามลำดับ ถ้าเราคิดว่า IVL เป็นหุ้นมีพื้นฐานดี และจะดีต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปี Monish Pabrai แนะนำว่า เราควรรอโอกาสจนกว่าราคาเสนอขาย IVL ในตลาดหลักทรัพย์มีค่าต่ำกว่า 50% ของมูลค่าที่แท้จริง (มีส่วนเผื่อความปลอดภัย หรือ margin of safety 50%) ถ้าเราเชื่อมูลค่าของโบรกเกอร์ที่ให้ 60 บาท ราคาตอนนี้ก็เท่ากับ 55% ถ้าเชื่อของอีกโบรกเกอร์หนึ่งที่ให้ 71 บาท ราคาตอนนี้ก็เท่ากับ 46% แต่ถ้าเชื่อที่ผมทำเอาไว้ (มองโลกในแง่ดีเกินไป รอการปรับปรุงให้อนุร้กษ์นิยมมากขึ้น) ราคาตอนนี้ก็เท่ากับ 35% ครับ เพื่อน ๆ จะเชื่อใครก็เลือกได้ตามสบายครับ แต่ช้าก่อน แม้แต่หุ้นที่ Monish Pabrai ศึกษามาดีแล้ว และเข้าซื้อที่ราคาต่ำกว่า 50% เทียบกับมูลค่าที่แท้จริงซึ่งคำนวณแบบอนุรักษ์นิยม หลังจากซื้อไปแล้วราคายังตกลงไปอีกเกินครึ่งของราคาที่เข้าซื้อ แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในหนังสือของ Monish Pabrai ได้บอกไว้ว่า ถ้าหุ้นมีอนาคต ราคาต่ำกว่าครึงของมูลค่าที่แท้จริง เขาก็เริ่มเข้าเก็บหุ้น แต่จากการเรียนรู้ของผมในระยะหลังนี้ ผมจะยังไม่เข้าซื้อถ้ากราฟทางเทคนิคบ่งชี้ว่ายังไม่ควรเข้า หลักการก็คือ ถ้าราคาหุ้นไม่อยู่ในช่วงปรับฐาน อย่าซื้อ เก็บเงินไว้รอโอกาสดีกว่า ถ้าหุ้นอยู่ในช่วงปรับฐานแต่สัญญาณ RSI ยังไม่อยู่ในเขต ขายมากเกินไป (oversold) ก็ยังไม่ควรซื้อ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด ทีนี้กราฟหุ้นทางเทคนิคมีอยู่สามแบบใหญ่ ๆ คือ กราฟรายวัน กราฟรายสัปดาห์ และกราฟรายเดือน เราจะเลือกดูกราฟไหนล่ะ ? อันนี้ผมตอบไม่ได้ครับ ขึ้นอยู่กรรมบุญกรรมแต่ชาติปางก่อนของแต่ละท่าน เลือกกราฟถูกก็มีโอกาสรวย เลือกผิดแต่ถือยาวก็ยังมีโอกาสรวย เลือกผิดและเล่นสั้นก็ไม่มีโอกาสรวย เรามาดูแต่ละกราฟกันครับ
กราฟรายวัน
กราฟข้างบนเป็นกราฟรายวัน จะเห็นว่าในช่วงปี 2010 หุ้นไต่ราคาขึ้นเกือบตลอดปี ในช่วงนี้สัญญาณ RSI จะเด้งไปมาภายในช่วงระดับ 70% และ 50% โดยตลอด หมายความว่าค่อนไปทางซื้อมากเกินไปตลอดทั้งปี ดังนั้นหุ้นจึงสะสมความ "ซื้อมากเกินไป" ไว้อย่างต่อเนื่อง พอมาช่วงปลายปี 2010 ต่อ ต้นปี 2011หุ้น IVL จึงเริ่มระบายความ "ซื้อมากเกินไป" ออกมา ทำให้สัญญาณ RSI ตกลงมาแตะระดับ 30% อย่างรวดเร็ว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2011 แล้วจึงเด้งขึ้นอย่างรวดเร็วไปแตะระดับ 70% อีกครั้งประมาณเดือนเมษายน 2011 ช่วงนี้เป็นช่วงที่อาจเรียกได้ว่า เกิดปรากฏการณ์ yoyo effect มีการสู้กันของกลุ่มคนในตลาดที่มีความเห็นต่างกันว่าหุ้นมีการปรับฐานพอแล้วหรือยัง ทำให้เกิดความผันผวนอย่างมากเหมือนลูกข่างโยโย่ที่เด้งขึ้นลงอย่างรวดเร็วนั่นเอง เพื่อนนักลงทุนที่เคยพยายามลดน้ำหนัก คงเคยพบปรากฏการณ์แบบนี้ด้วยตนเองมาแล้ว หลังเกิด yoyo effect กลุ่มที่คิดว่าหุ้นปรับฐานเพียงพอแล้วเริ่มยอมรับความจริง จึงเกิดการระบายความ "ซื้อมากเกินไป" ออกมาอีกครั้ง ทำให้สัญญาณ RSI เปลี่ยนมาเด้งขึ้นลงในช่วงระหว่าง 50% และ 30% นับแต่น้ันมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะนี้สัญญาณ RSI ได้ลงมาวนเวียนอยู่บริเวณ 30% ดังแสดงในวงรีสีเหลืองตามรูปข้างบน ตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่าสัญญาณ RSI จะอยู่ในเขตนี้ไปอีกนานแค่ไหน จากการดูกราฟรายวัน เพื่อน ๆ คงสังเกตได้ว่า สัญญาณทางเทคนิคเช่น สัญญาณ RSI มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว และไม่แสดงแนวโน้มที่เห็นได้อย่างชัดเจนสักเท่าไร ทีนี้มาดูกันว่า เหตุการณ์แบบเดียวกันนี้จะเกิดกับกราฟรายสัปดาห์ด้วยหรือไม่
กราฟรายสัปดาห์
กราฟข้างบนเป็นกราฟรายสัปดาห์ จะเห็นว่าในช่วงปี 2010 หุ้นไต่ราคาขึ้นเกือบตลอดปี ในช่วงนี้สัญญาณ RSI อยู่เหนือระดับ 70% โดยตลอด หมายความว่าอยู่ในเขตซื้อมากเกินไป และซื้อมากเกินไปตลอดทั้งปี ดังนั้นหุ้นจึงสะสมความ "ซื้อมากเกินไป" ในปริมาณมหาศาล พอมาช่วงปลายปี 2010 เป็นต้นมา หุ้น IVL จึงเริ่มระบายความ "ซื้อมากเกินไป" ออกมาเรื่อย ๆ ทำให้สัญญาณ RSI ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเพิ่งจะลดลงมาแตะขอบบนของระดับ 30% ในตอนนี้ (ดูวงรีสีเหลืองในรูปข้างบน) หรือจะพูดได้ว่าเพิ่งระบายความ "ซื้อมากเกินไป" ออกได้หมด ทีนี้เราก็จะเริ่มเข้าสู่เขตขายมากเกินไป แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะอยู่ในเขตนี้ไปอีกนานแค่ไหน แต่สังเกตว่าในตอนที่ RSI ลดลงมาแตะระดับ 50% เมื่อต้นปี 2011 สัญญาณ RSI วนเวียนอยู่ที่ระดับ 50% ประมาณ 4 สัปดาห์ก่อนเด้งขึ้นด้านบวก จากการดูกราฟรายสัปดาห์ เพื่อน ๆ คงสังเกตได้ว่า สัญญาณทางเทคนิคเช่น สัญญาณ RSI มีการเปลี่ยนแปลงที่ช้าลงกว่าในกราฟรายวัน และแสดงแนวโน้มที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าหุ้นกำลังอยู่ในย่านซื้อมากเกินไป หุ้นกำลังระบายความ "ซื้อมากเกินไป" ออกมา และหุ้นได้ระบายความ "ซื้อมากเกินไป" ออกไปหมดแล้ว ดังนั้นกราฟรายสัปดาห์จึงแสดงข้อมูลที่เหมาะสมภายในช่วงขาขึ้นระยะยาวของหุ้นได้ดีกว่ากราฟรายวัน เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรสำหรับกราฟรายเดือน เรามาดูต่อกันครับ
กราฟรายเดือน
กราฟข้างบนเป็นกราฟรายเดือน จะเห็นว่า ราคาหุ้นในกราฟแบ่งออกเป็นสองช่วงอย่างชัดเจนคือช่วงไต่ราคาขึ้น และช่วงสร้างฐานโดยการเคลื่อนตัวออกข้าง ในช่วงแรกที่มีการไต่ราคาขึ้นไปแบ่งได้เป็นสองช่วงย่อยคือ ช่วงไต่ราคาแบบไปเรื่อย ๆ ในสามไตรมาสแรกของปี 2010 และช่วงไต่ราคาอย่างก้าวกระโดดในไตรมาสสุดท้ายของปี 2010 (ลมหายใจเฮือกสุดท้าย) จุดเริ่มของการไต่ราคาแบบก้าวกระโดดคือ แท่งกราฟสีเขียวแท่งยาวของเดือนพฤศจิกายน 2010 กราฟแท่งนี้เริ่มต้นเปิดขึ้นที่ราคา 32.25 บาท แล้วพุ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ราคา 53.75 บาท แล้วกลับลงมาปิดที่ราคา 50.00 บาท หลังจากกราฟแท่งนี้เป็นต้นมา ราคาหุ้น IVL ก็ได้เคลื่อนไหวในลักษณะพักฐานออกข้างโดยมีการแกว่งขึ้นลงสลับเป็นระยะ และในช่วงสุดท้ายในกราฟได้ปรับตัวลงตลอดทั้งสี่เดือน (และตลอดเดือนกันยายนที่ยังไม่ปรากฎให้เห็นในกราฟรายเดือนนี้) ในขณะนี้ราคาได้ปรับลงมาอยู่แถว ๆ 33 บาท ผมขอให้เพื่อน ๆ สังเกตความสำคัญของระดับราคาปัจจุบันครับ ระดับราคานี้คือจุดเริ่มต้นของกราฟแท่งแรกของการไต่ราคาแบบก้าวกระโดดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2010 ที่ราคาเปิด 32.25 บาทนั่นเองครับ เรียกได้ว่าได้มีการลบล้างการไต่ราคาแบบก้าวกระโดดออกไปอย่างหมดสิ้นแล้วในขณะนี้ พิจารณาสัญญาณ RSI จะเห็นว่าสัญญาณเพิ่งปรับตัวออกจากเขตซื้อมากเกินไป (overbought) ลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 70% เมื่อเดือนมิถุนายน 2011 ที่ผ่านมานี้เอง และยังไม่ได้ลดลงมาแตะระดับ 50% เลยครับ จากกราฟรายเดือนข้างบนเพื่อน ๆ คงสังเกตได้ว่าสัญญาณทางเทคนิคเช่น สัญญาณ RSI มีการเปลี่ยนแปลงช้ามาก จึงเหมาะที่จะใช้ดูการเปลี่ยนแนวโน้มใหญ่ ๆ ในระยะยาวมาก ๆ ครับ ถ้ารอบเศรษฐกิจของไทยยังเป็นไปในขาขึ้นได้อีกต่อไป ระดับ RSI รายเดือน 50% เป็นบริเวณที่น่าจับตาดูว่าจะมีการย้อนกลับขึ้นไปได้หรือไม่ครับ
ด้วยข้อมูลที่ผมรับใช้มาทั้งหมดข้างบน เพื่อน ๆ แต่ละท่านคงจะตัดสินใจเองได้นะครับว่าควรทำอย่างไรต่อไป ขอให้เฮงกันทุกคนครับ
=============================================
ติดตาม "ลงทุนหุ้นไทย" ที่
ติดตาม "ลงทุนหุ้นไทย" ที่
เรียนรู้การดูกราฟหุ้นทางเทคนิคได้ที่ Free Stock Technical Analysis Tutorial
หาเพื่อนนักลงทุนในกลุ่มสนทนา " ชำแหละพื้นฐานหุ้น"
เก็บความรู้ลงกล่อง " ผ่างบการเงิน ชำแหละพื้นฐานหุ้น ลงทุนถูกเวลา"