Monday, June 25, 2012

Cutting loss คุณติดตั้งระบบความปลอดภัยในการลงทุน แล้วหรือยัง ?

เพื่อนนักลงทุนพอจะคุ้นเคยกับสถานการณ์เช่นนี้บ้างหรือไม่ครับ
  • ยิ่งลงทุนนาน เงินต้นยิ่งร่อยหรอ
  • เคยได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ต่อมากำไรหายเกลี้ยง
  • หุ้นยิ่งตก ยิ่งเข้าซื้อ หุ้นยิ่งขึ้น ยิ่งขายออก
หากท่านใดเป็นไปตามข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น มีโอกาสสูงมากที่ท่านจะไม่ทราบว่า cutting loss คืออะไร หรือท่านอาจจะทราบว่าคืออะไร แต่ไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไร หรือท่านอาจจะทราบว่าต้องทำอย่างไร แต่ไม่เคยทำได้ซักที มาดูกันครับว่า cutting loss คืออะไรกันแน่ แล้วเราจะแก้นิสัยการลงทุนของเราเพื่อให้ cut loss เป็นได้อย่างไร ก่อนอื่นท่านต้องเข้าใจข้อความต่อไปนี้ว่าหมายความว่าอย่างไร
  • ไม่มีใครคาดการณ์ความเป็นไปของหุ้นและตลาดหุ้นได้ถูกต้องทุกครั้ง
  • การรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย และมีน้ำใจนักกีฬา เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องมี
  • การรักษาต้นทุนมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
จากข้อความข้างบนสรุปได้ว่า ไม่มีใครลงทุนถูกต้องทุกครั้งไป แม้แต่เซียนระดับโลก แต่ที่เขารวยกันขึ้นมาได้เพราะมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ คือเมื่อตัดสินใจลงทุนไปทางใดทางหนึ่งแล้ว ภายหลังพบว่าเป็นการตัดสินใจผิด เขาจะไม่โทษคนอื่น เขายอมรับความผิดพลาด แต่โดยดี แล้วรีบป้องกันต้นทุนที่มี พร้อมกำไรที่สะสมมาได้ ไม่ให้กระทบกระเทือนมากเกินไป เมื่อรักษาต้นทุนไว้ได้แล้ว จึงหาโอกาสลงทุนใหม่ต่อไป ไม่ท้อถอย 
     จะว่าไปแล้ว กระบวนการปกป้องต้นทุนไม่ให้เสียหายมากเกินไป ก็คล้ายกับสิ่งที่มีกันอยู่ทุกบ้าน นั่นคือ เบรกเกอร์ตัดวงจรไฟฟ้า (circuit breaker) หรือฟิวส์ (fuse) อันเป็นอุปกรณ์ที่มีไว้ป้องกันไม่ให้มีคนถูกไฟดูดตาย หรือไม่ให้ไฟฟ้าลัดวงจรจนเกิดเพลิงไหม้ หลักการทำงานของอุปกรณ์ทั้งสองคือ การตรวจดูปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านตัวมัน ถ้ามีขนาดมากเกินกว่าขนาดที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เช่น 5 แอมแปร์ เป็นต้น ตัวมันเองจะเกิดความร้อนขึ้นจนไปกระตุ้นให้กลไกทางกลตัดไฟที่ป้อนเข้ามาในบ้าน (ในกรณีเบรกเกอร์) หรือความร้อนทำให้ตัวมันเองหลอมละลายขาดไปจนกระแสไฟฟ้าผ่านเข้าบ้านไม่ได้ เมื่อกระแสไฟฟ้าถูกตัดออกไปแล้ว คนที่ถูกไฟฟ้าดูดก็อาจจะไม่ตาย หรือสายไฟฟ้าที่เริ่มร้อนจากการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าพร้อมกันหลายตัวเกินไป ก็จะเย็นลงไม่เกิดลุกไหม้ขึ้น 
     เนื่องจากเราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าการตัดสินใจลงทุนของเราจะถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ ฉันใดก็ฉันนั้น เราจะต้องติดตั้งระบบเบรกเกอร์ พร้อมตั้งค่าให้เบรกเกอร์เริ่มตัดไฟ ในการลงทุนของเราทุกครั้งเสมอ จึงจะป้องกันต้นทุนที่หามาได้อย่างยากลำบากของเราไม่ให้เกิดความเสียหายย่อยยับลงไป เบรกเกอร์ในการลงทุน ก็คือ การตัดขาดทุน หรือ cutting loss นั่นเอง หมายความว่า ทุกครั้งที่เราเข้าลงทุนซื้อหุ้นที่ระดับราคาใด เราต้องตั้งระดับการป้องกันต้นทุนไว้เสมอ เช่น หากเราเข้าซื้อหุ้น IVL ที่ราคา 29.00 บาท โดยหวังว่า ผลประกอบการ ปี 2012 ไตรมาส 2 จะออกมาดี และหุ้นจะฟื้นขึ้นไปในอนาคต ก่อนเข้าซื้อต้องตั้งระดับการตัดขาดทุนไว้ก่อน เช่น ยอมขาดทุน 10% หากการตัดสินใจเข้าซื้อของเราเป็นการตัดสินใจที่ผิด ดังนั้นถ้าเข้าซื้อหุ้น IVL ที่ 29.00 บาท จะต้องขายหุ้นที่ซื้อมาที่ราคานี้ออกไปทั้งหมดทันทีโดยไม่ลังเล เมื่อราคาหุ้นตกลงมาเหลือ 29.00 x 0.90 = 26.10 บาท ปัดเศษให้ลงตัวตามสเปรดราคาหุ้นของ ตลท. เป็น 26.00 บาท การขายหุ้นที่ซื้อมา 29.00 บาท ออกไปที่ 26.00 บาท เป็นการขายที่ขาดทุนประมาณ 10% แต่ปกป้องต้นทุนที่เหลืออีก 90% เอาไว้สำหรับลงทุนในโอกาสต่อไปครับ
     นอกจาก cutting loss ให้เป็นแล้ว ก่อนเข้าลงทุนใด ๆ เราควรประเมินความเสี่ยงก่อนว่า ระดับราคาที่เข้าลงทุนนั้นเสี่ยงมากน้อยเพียงไร วิธีการอย่างหนึ่งคือการเทียบราคาเข้าลงทุน กับมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น เช่น มูลค่าที่แท้จริงของ IVL ล่าสุดรวมผลประกอบการ 2012 ไตรมาส 1 อยู่ที่ มูลค่าที่แท้จริง 39.00 บาท - 48.25 บาท หรือมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 43.60 บาท หากเราเข้าลงทุนที่ 29.00 บาท แล้วหุ้นขึ้นไปที่ 43.60 บาท เราจะได้กำไร 43.60 - 29.00 = 14.60 บาท แต่หากเราเข้าซื้อที่ 29.00 บาท แล้วหุ้นตกแต่เราตัดขาดทุนขายหุ้นที่ซื้อมาไปที่ 26.00 บาท ตามที่ตั้งไว้แต่แรก เราจะขาดทุน 29.00 - 26.00 = 3.00 บาท ดังนั้น ถ้าเราตัดสินใจถูกเราได้กำไรมหาศาล 14.60 บาท แต่ถ้าตัดสินใจผิด เราขาดทุนนิดหน่อย 3.00 บาท หรือมีขนาดกำไรต่อขาดทุน 14.60/3.00 = 4.87 เท่า ผมฟังคุณธิติ ธาราสุข ให้สัมภาษณ์ทาง Money Channel ได้ความรู้ในส่วนนี้มาว่า ถ้าขนาดกำไรต่อขาดทุน มีค่าน้อยกว่า 3 เท่า ถือว่าเสี่ยงเกินไป ไม่ควรเข้าลงทุนเสียตั้งแต่แรก จะว่าไปแล้ว การประเมินความเสี่ยงในลักษณะนี้ ก็ตรงกับส่งที่คุณโมห์นิศ ปะไพร กล่าวไว้ในหนังสือ นักลงทุนดันโด ที่อธิบายแนวการลงทุนแบบดันโดสั้น ๆ ว่า เป็นการลงทุนที่ให้ผลแบบ ถ้าออกหัว จะได้กำไรมหาศาล ถ้าออกก้อย จะเสียเงินนิดหน่อย นั่นเอง ผมรับใช้มาถึงตรงนี้ก็หวังว่าเพื่อนนักลงทุนคงพอจะเข้าใจเกี่ยวกับการตัดขาดทุน หรือ cutting loss แล้วนะครับ ที่เหลือก็คือ การลงมือติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยนี้กับการลงทุนทุกครั้งของท่าน ขอย้ำว่า ถ้าท่านไม่ติดตั้งระบบ "ตัดไฟแต่ต้นลม" ที่ว่านี้ ผมรับรองได้ว่า สภาพการณ์ ยิ่งลงทุนนาน เงินต้นยิ่งร่อยหรอ เคยได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ต่อมากำไรหายเกลี้ยง หุ้นยิ่งตก ยิ่งเข้าซื้อ หุ้นยิ่งขึ้น ยิ่งขายออก ดังที่ผมยกมาในตอนต้นบทความนี้ คงจะตามหลอกหลอนท่านต่อไป จนกว่าท่านจะถูกบีบให้ออกจากตลาดไปในที่สุดครับ
     เพื่อนนักลงทุนอาจจะถามผมต่อว่า แล้วถ้าไม่รู้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นล่ะ จะทำอย่างไร คำตอบคือ ท่านคงจะต้องเชื่อรายงานการวิจัยของโบรกเกอร์ไปก่อน จนกว่าท่านจะสามารถหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นเองได้ วิธีการอย่างง่ายทำได้ดังนี้ครับ ผมขอยกตัวอย่างหุ้น IVL อีกที ผมไปที่หน้าเว็บ SAA Consensus http://www.settrade.com/AnalystConsensus/C04_10_stock_saa_p1.jsp?txtSymbol=IVL ซึ่งรวบรวมความเห็นเกี่ยวกับหุ้นที่เราสนใจจากโบรกเกอร์ต่าง ๆ ไว้ ท่านสามารถเข้าไปหาข้อมูลได้ฟรี ผมเอาตัวอย่างหน้าเว็บนี้มาให้ดูดังภาพข้างล่างครับ




จากหน้า SAA Consensus เป้าหมายราคา 12 เดือนข้างหน้า (นับจากวันที่ของรายงานการวิจัย) โดยเฉลี่ยให้ราคาของ IVL ไว้ที่ 41.81 บาท ปัดเศษตามสเปรดราคาหุ้นของ ตลท. ไปที่ 41.75 บาท สมมุติเราจะเข้าซื้อหุ้น IVL ที่ราคา 29.00 บาท (ก่อน เฟดจะบอกว่า ไม่มี QE3 มีแต่ยืดอายุ operation twist ออกไปอีก 6 เดือน) ถ้าเราตัดสินใจถูก ซื้อแล้วหุ้นขึ้นไปที่ราคาเป้าหมายเฉลี่ยของ SAA Concensus 41.75 บาท เราจะได้กำไร 41.75 - 29.00 = 12.75 บาท ถ้าเราตัดสินใจผิด แต่ตัดขาดทุนขายหุ้นที่ซื้อมานั้นออกไปที่ 26.00 บาท เราจะขาดทุน 29.00 - 26.00 = 3.00 บาท (ประมาณ 10%) คิดเป็นขนาดกำไรต่อขาดทุน 12.75 / 3.00  = 4.25 เท่า ซึ่งมากกว่า 3 เท่าถือว่า ไม่เสี่ยงมากเกินไป เมื่อพิจารณาดังนี้แล้วจึงเข้าซื้อหุ้น IVL ที่ราคา 29.00 บาท 
     สำหรับท่านที่ได้ติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยตามที่ผมกล่าวมาและทำตามระบบจนเป็นนิสัยแล้ว ท่านจะสามารถรักษาเงินต้นไว้ได้ ส่วนเงินจะงอกเงยมากน้อยเพียงไร ขึ้นอยู่กับว่าท่าน let the profit runs เป็นหรือไม่ วิธีการหนึ่งในการ ปล่อยให้เงินทำงาน หรือปล่อยให้กำไรงอกเงยไม่ขายออกเร็วเกินไปคือการเลื่อนระดับการทำงานของระบบรักษาความปลอดภัยขึ้นไป ตามราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นไป เช่น สมมุติว่า ท่านลงทุนหุ้น IVL ที่ 29.00 บาท โดยตั้งการตัดขาดทุน 10% ไว้ที่ 26.00 บาท ต่อมาราคาหุ้นไต่ขึ้นไปถึง  41.75 บาท อันเป็นราคาเฉลี่ยของ SAA Consensus แล้ว แต่เนื่องจากพื้นฐานหุ้น ณ ระดับราคานั้นยังคงดีอยู่ ท่านจึงให้โอกาสหุ้นได้พักปรับฐานเพื่อขึ้นต่อ โดยการปรับระดับการตัดขาดทุนจาก 26.00 บาท ขึ้นมาเป็น (29.00 + 41.75) / 2 = 35.38 หรือประมาณ 35.45 บาท เท่ากับว่าท่านได้ล็อคเอากำไร 35.45 - 29.00 = 6.45 บาทเอาไว้ก่อน หากราคาหุ้นพักปรับฐานลงมาไม่ลึกถึงระดับนี้ แล้วไปต่อ ท่านก็ทยอย เลื่อนระดับการตัดขาดทุนตามไปทีละขยัก เป็นต้น
     เนื่องจากความผันผวนอย่างมากของราคาหุ้นในระหว่างวันอาจเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ดังนั้นในการลงมือขายตัดขาดทุนควรรอให้ตลาดปิดก่อน แล้วใช้ราคาปิดของวันเป็นจุดตัดสินใจ หากราคาหุ้นปิดต่ำกว่าระดับการตัดขาดทุนที่ตั้งไว้ จึงขายออกในวันทำการถัดไปครับ


===================================================

ติดตาม "ลงทุนหุ้นไทย ผ่างบการเงิน ชำแหละพื้นฐานหุ้น ลงทุนถูกเวลา" ที่
หาเพื่อนนักลงทุนในกลุ่มสนทนา "ชำแหละพื้นฐานหุ้น "