Wednesday, July 4, 2012

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเริ่มเปลี่ยนจากโหมดเครื่องยนต์เดี่ยวเทอร์โบเจ็ต มาเป็นโหมด 3 เครื่องยนต์สมดุล

ผมได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งมานานแล้ว พอสรุปได้ว่า ระบบเศรษฐกิจเปรียบเสมือนเครื่องบินที่มี 3 เครื่องยนต์ ได้แก่ 
  • การส่งออก 
  • การบริโภคในประเทศ 
  • การลงทุนของภาครัฐ/เอกชน 
ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา เครื่องบินเศรษฐกิจไทยได้รับการรขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์การส่งออกเป็นหลัก ประมาณ 70% โดยใช้เชื้อเพลิงหลักคือค่าแรงราคาถูก ที่เหลือเป็นใช้เครื่องยนต์การบริโภคในประเทศ และเครื่องยนต์การลงทุนภาครัฐ/เอกชน ซึ่งเดินเครื่องในโหมดเดินเบา (idle) คือมีการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นแบบช้า ๆ เพราะค่าแรงน้อย กำลังซื้อไม่พอ ส่วนการลงทุนภาครัฐก็ไปเรื่อย ๆ มีการเน้นสร้างถนน เป็นหลัก ไม่มีการพัฒนาระบบรางอย่างจริงจัง ทำให้ประสิทธิภาพระบบลอจิสติกส์ไม่เพียงพอ โครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ทางด้านไอทีล้าหลังชาวโลก การเดินเครื่องรอบเบาของสองเครื่องยนต์หลังนี้ เป็นไปเพียงเพื่อประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปได้เรื่อย ๆ เท่านั้น เมื่อเศรษฐกิจโลกซบเซาลง เครื่องยนต์ส่งออกจึงจำเป็นต้องลดความแรงลงมา ดังนั้นถ้าไม่อยากให้เครื่องตก ก็ต้องเร่งเครื่องยนต์การบริโภคในประเทศ และเครื่องยนต์การลงทุนภาครัฐ/เอกชนขึ้นมาทดแทน


การเร่งเครื่องยนต์การบริโภคในประเทศขึ้นมานั้นขณะนี้มีการดำเนินการหลายอย่าง ได้แก่ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ (ยิ่งทำให้เครื่องยนต์ส่งออกลดความแรงลงอีก) การขึ้นเงินเดือนแรงงานระดับปริญญาตรี (และผลพวงที่กระเทือนไปทั้งระบบ) การจำนำผลิตผลการเกษตร การพักหนี้ รถยนต์คันแรก การลดภาษีเพื่อขยายฐาน เป็นต้น มาตราการเหล่านี้ล้วนเอื้อให้เกิดกิจกรรมการบริโภคภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างขนานใหญ่ ซึ่งรัฐจะได้เงินคืนมาในรูปของ VAT จากกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นมานั่นเอง


สำหรับเครื่องยนต์การลงทุนภาครัฐ/เอกชนนั้น แบ่งออกเป็นการลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกัน กล่าวคือ การลงทุนภาครัฐ เปรียบเหมือนตัวนำร่องที่จะอำนวยให้ภาคเอกชนเริ่มลงทุนตาม เช่น รัฐต้องลงทุน ระบบขนส่ง ไฟฟ้า ประปา การสื่อสาร อินเตอร์เน็ต ให้เพียงพอเสียก่อน เอกชนจึงจะกล้าลงทุนขยายโรงงานเก่า และสร้างโรงงานใหม่ นอกจากนี้ การบริโภคในประเทศและการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจะส่งเสริมให้เอกชนลงทุนผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นไปอีก เกี่ยวโยงกันไปทั้งระบบ ดังนั้นการลงทุนภาครัฐจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้กระบวนการซึ่งเกี่ยวโยงกันดังกล่าวให้เริ่มเร่งเครื่องขึ้นมาช่วยกันขับดันเศรษฐกิจอย่างสมดุลทั้งสามเครื่องยนต์ 


แนวคิดที่ผมว่ามานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่ได้ริเริ่มโดย John Maynard Keynes มาตั้งแต่ปี 1930 มีการใช้ได้ผลมาแล้วในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (great depression) ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ลองหาอ่านรายละเอียดดูครับ 


กระบวนการปรับเครื่องยนต์ทั้งสามให้สมดุลด้วยการนำร่องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานบัดนี้ได้เริ่มขึ้นแล้ว ดังที่ผมอ่านพบบทความในหนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 1-4 ก.ค. 2555 เลยตัดมาแปะแชร์กันครับ เพื่อนนักลงทุนลองไปคิดต่อดูครับว่า ท่านจะใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์นี้อย่างไรต่อไป 




ที่มา : ตัดมาแปะจากหนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 1-4 ก.ค. 2555

===================================================


ติดตาม "ลงทุนหุ้นไทย ผ่างบการเงิน ชำแหละพื้นฐานหุ้น ลงทุนถูกเวลา" ที่
หาเพื่อนนักลงทุนในกลุ่มสนทนา "ชำแหละพื้นฐานหุ้น "