Saturday, March 23, 2013

ดัชนี SET พักปรับฐานแรง ลงมาชนเส้น SMA77D แล้ว


ดัชนี SET เริ่มเข้าสู่ขาขึ้นรอบล่าสุดในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2012 ขณะนั้นดัชนีอยู่ระดับเดียวกันกับเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 77 วัน หรือ SMA77D ที่ 1263.05 จุด จากนั้นมา ดัชนีก็ไต่ระดับอย่างแทบเป็นเส้นตรงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนไปทำจุดสูงสุดไว้ที่ 1601.34 จุด ในวันที่ 19 มีนาคม 2013 ระหว่างไต่ระดับขึ้นไปนั้น ไม่มีวันใดเลยที่ดัชนีจะปิดต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 14 วัน หรือ SMA14D ดังนั้นจึงสามารถใช้ SMA14D เป็นปัจจัยเฝ้าระวัง เพื่อบ่งชี้จุดสิ้นสุดรอบขาขึ้นของดัชนี
สิ้นวันที่ดัชนีขึ้นไปทำจุดสูงสุดนั้นเอง ดัชนีได้ปิดลงที่เส้น SMA14D พอดี วันต่อมา 20 มีนาคม 2013 ดัชนีเลื่อนต่ำลงไปอีกและปิดต่ำกว่าเส้น SMA14D ที่บนเส้น SMA28D พอดี เป็นอันสิ้นสุดรอบขาขึ้นของดัชนีที่ดำเนินมา 4 เดือน ในวันดังกล่าว ก่อนตลาดปิดเล็กน้อย ผมดูสถานการณ์แล้วคิดว่า วันนี้คงจะปิดต่ำกว่าเส้น SMA14D แน่ ๆ มูลค่าพอร์ตหักหนี้ของเราเองก็ลดลงมาถึงเส้นสีชมพูหรือลดจากจุดสูงสุดเมื่อสองสามวันก่อนลงมาเกิน 15% ถึงเวลาต้องทำอะไรบางอย่างตามที่ได้วางแผนเอาไว้แล้ว เพราะช่วงเวลาไม่กี่นาทีที่เหลืออยู่ดัชนีไม่น่าจะขึ้นไปปิดเหนือเส้น SMA14D ได้ เมื่อพิจารณาดังนั้นแล้วผมจึงเริ่มปฏิบัติการ [ ปกป้องพอร์ต ] โดยสั่งขายหุ้นหลายตัวในพอร์ตส่วนที่มีต้นทุนสูงกว่าระดับครึ่งทางของระยะที่หุ้นวิ่งขึ้นมาแรง ๆ ในรอบล่าสุดออกไปทั้งหมด ด้วยคำสั่ง ATC ณ ราคาปิดตลาด ทำให้หนี้บัญชีมาร์จิ้นลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง หลังตลาดปิดผมเข้าสำรวจความเสียหายของพอร์ตพบว่าไม่มากมายอะไรนัก แต่การขายปกป้องพอร์ตที่ดำเนินการในช่วงไม่กี่นาทีก่อนตลาดปิดนั้นไม่น่าจะเพียงพอ เพราะตลาดลงเป็นแท่งแดงค่อนข้างยาว แถมยังไปปิดตัวลงบนเส้น SMA28D พอดีอีก เนื่องจากผมทราบก่อนแล้วว่า ตอน SET เริ่มเป็นขาขึ้น มันแยกตัวออกจากเส้น SMA77D ดังนั้นตอนปรับฐานก็มีโอกาสที่จะลงไปหาเส้นนี้ได้เช่นเดียวกัน แต่เส้นนี้อยู่ต่ำลงไปค่อนข้างมาก ตลาดน่าจะลงไปได้อีก คืนนั้นผมจึงส่งคำสั่งขายเพิ่มเติมแบบ ATO ณ ราคาเปิดตลาด 
รุ่งขึ้น 21 มีนาคม 2013 ระบบดำเนินการให้ผมทันทีที่ตลาดเปิด ระดับหนี้ลดลงเหลืออยู่บ้างแต่ไม่มากแล้ว เป็นอันว่า พอร์ตของผมอยู่ในสถานะค่อนข้างปลอดภัยพอสมควร ปิดตลาด ดัชนีลดลงไปอีกประมาณครึ่งหนึ่งของสองวันที่ผ่านมา โดยลงมาจ่ออยู่แถว ๆ ระดับ 1520 ซึ่งเป็นระดับ Fibonacci ที่อยู่ต่ำลงไป อาจารย์หุ้นหลายท่านให้ความเห็นในเฟซบุ๊คว่า หากหลุดระดับดังกล่าวก็ตัวใครตัวมัน วันนี้ 22 มีนาคม 2013 ตลาดเปลี่ยนโหมดเป็นกีฬากระโดดน้ำโอลิมปิก ดิ่งลงกว่า 60 จุด ลงไปแตะเส้น SMA77D ตามที่ผมคิดไว้ ก่อนจะเลื่อนขึ้นมาปิดสูงกว่านั้นเล็กน้อย เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ตลาดดิ่งเหวแล้วผมไม่รู้สึกหวั่นไหว แต่แอบดีใจเล็กน้อย เพราะมองพอร์ตแล้วยังอยู่รอดปลอดภัยดีแม้จะลดมูลค่าลงมาจากจุดสูงสุดไม่กี่วันที่ผ่านมา ประมาณ 20% แล้วก็ตาม ทั้งนี้เป็นเพราะได้ทำใจไว้แต่แรกแล้วว่า ส่วนที่หายไปนั้น มันไม่ใช่ของเรา ส่วนที่เป็นของเราจริง ๆ คือเส้นสีแดงที่อยู่ต่ำกว่าจุดสูงสุดลงมา 25% เมื่อเหลือบไปดูปริมาณทุนที่มีพร้อมสำหรับกลับเข้าไปซื้อของถูก ๆ เลหลัง ในอีกไม่นานนี้ พบว่ามีมากพอที่จะกลับเขาไปแบบแข็งแกร่งกว่าเดิม มองเห็นชัดเจนว่า วิกฤติก็คือโอกาส นั่นเองครับ เพื่อนนักลงทุนบางท่าน message มาถามผมว่า ดัชนี แถว ๆ ไหนเข้ารับได้ ผมตอบทีเล่นทีจริงกลับไปว่า รับได้ทุกแถวครับ แต่รับแล้วจะเป็นยังไงผมไม่ทราบจริง ๆ แต่นักลงทุนน้อยคนมากที่จะสามารถขายหุ้นที่ราคาสูงสุด แล้วกลับเข้าไปซื้อหุ้นได้ที่ราคาต่ำสุด คนที่ทำได้โดยมากทำได้แบบฟลุ๊ค ๆ ครับ เพราะในการซื้อขายที่เป็นระบบ เวลาหุ้นขึ้น เราต้องให้เงินทำงาน จะขายต่อเมื่อราคาหุ้นหรือดัชนีหลุดจากเส้น SMA ระยะสั้น ๆ เช่น 7 วัน 14 วันลงมาแล้วเท่านั้น โดยเงื่อนไขนี้จึงไม่มีทางที่เราจะขายทำกำไรที่ราคาสูงสุดได้เลย ทำนองเดียวกัน เวลาเข้าช้อนซื้อหุ้น ก็ไม่สามารถซื้อที่ราคาต่ำสุดได้ เพราะต้องรอให้ราคาหุ้นหรือดัชนีผ่านเส้น supply line ขึ้นไปสำเร็จเสียก่อนนั่นเองครับ ในภาพข้างล่าง ผมไม่แน่ใจว่า เส้น SMA77D ที่เคยเอาอยู่เมื่อ 4 เดือนก่อน จะเอาอยู่ในคราวนี้หรือไม่ แต่ถ้าถามว่า ดัชนีลงมาพอสมควรหรือยัง ก็ต้องตอบว่า พอสมควร เพราะ การพักปรับฐานของหุ้นหรือดัชนีมักจะมีการปรับลงมา 38% - 62% ของระยะห่างระหว่างจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของช่วงขาขึ้นที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับ 338.29 จุด หากคิดเอาระดับต่ำสุดของวันนี้เทียบกับจุดสูงสุดของขาขึ้น ดัชนีได้ลดลงมาแล้ว 1601.34 - 1464.72 = 136.62 จุด หรือ 136.62 / 338.29 = 40.38% อย่างไรก็ตามควรรอให้ดัชนีกลับขึ้นไปอยู่เหนือเส้น supply line สีชมพูในภาพข้างล่างก่อนครับ



Short URL =  http://bit.ly/YhB7SW

==============================

ผ่างบการเงิน ชำแหละพื้นฐานหุ้น ลงทุนถูกเวลา รักษาต้นทุน นำหนุนกระแสเงินสด

มูลค่าที่แท้จริงของหุ้น = มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ + เงินสด + มูลค่าปัจจุบันของ [ มูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่เพิ่มขึ้นและเงินปันผลรับระหว่างถือหุ้น 10 ปี ]

ค้นหา "ลงทุนหุ้นไทย"

หาเพื่อนนักลงทุนในกลุ่มสนทนา " ชำแหละพื้นฐานหุ้น"