Wednesday, May 2, 2012

ฟ้าเริ่มเปิดที่ ช. การช่าง CK

     หลายเดือนก่อน ผมเคยอัพโหลดงบการเงินของ CK บมจ. ช. การช่าง พร้อมกับโพสต์ไปว่า นี่ คือหุ้นตัวต่อไปที่อยากชำแหละหามูลค่าที่แท้จริง เนื่องด้วยหลายสาเหตุคือ 1. ผมเคยเป็นผู้ถือหุ้น CK อยู่นานนับสิบปี เรียกได้ว่า "วัวเคยค้า ม้าเคยขี่" มีความรู้จักคุ้นเคยกับกิจการเป็นอย่างดี แม้เมื่อขายหุ้นออกไปหมดแล้ว เวลาขับรถผ่านงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงยังเผลอคิดในใจว่า นี้งานก่อสร้างโดยบริษัทของเรา 2. ผมรู้นิสัยของหุ้นตัวนี้ รวมทั้งนิสัยของผู้บริหารเนื่องจากติดตามมานาน 3. พอร์ตลงทุนของผมเคยเติบโต 19 เท่าจากหุ้นตัวนี้ (กลางปี 2003) แต่ด้วยความด้อยประสบการณ์ กำไรมหาศาลดังกล่าวได้มลายหายไปเพราะผมขายทำกำไรไม่เป็น 
     จากเหตุผลหลายข้อข้างต้นผมอยากจะรู้เสมอว่า กระบวนการชำแหละพื้นฐานหุ้นที่ผมเคยใช้กับหุ้นหลายตัวเช่น JUBILE หรือ IVL จะสามารถใช้กับ CK ได้หรือไม่ เนื่องจาก CK มีธรรมชาติของธุรกิจต่างจากกิจการทั้งสองที่ยกมาเป็นตัวอย่าง คือมีลักษณะเป็นกิจการรับเหมาก่อสร้างผสมกับการเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนในกิจการสาธารณูปโภคอื่น ๆ นอกจากนี้ผมเองยังไม่เคยชำแหละหุ้นที่เป็นกิจการโฮลดิ้งล้วน ๆ แบบหุ้น INTUCH จึงยังไม่รู้ว่าผลการชำแหละหุ้นเหล่านี้ จะแตกต่างจากหุ้นของกิจการผลิตของขาย หรือซื้อมาขายไปอย่างไรบ้าง แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีเวลาลงมือชำแหละดูสักที 
     ระหว่างรอชำแหละหุ้น CK ผมติดตามความเป็นไปของหุ้น CK ผ่านกราฟเทคนิคเพราะใช้เวลาน้อย เมื่อมองเห็นโอกาสจึงจะบีบคอตัวเองให้ลงมือชำแหละหุ้นเสียที สิ่งที่ผมตรวจพบในกราฟหุ้น CK รายสัปดาห์ (ดังภาพข้างล่าง) ในขณะนี้คือ การที่ราคาหุ้นได้ขึ้นมายืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 25 สัปดาห์ (เส้นเหลือง) 50 สัปดาห์ (เส้นน้ำเงิน) และ 75 สัปดาห์ (เส้นแดง) แล้วทั้งสามเส้น เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2009 ซึ่งราคาหุ้นได้พุ่งจากประมาณ 4 บาท ไปประมาณ 7.5 บาท ใน 1 เดือน และเคยเกิดขึ้นอีกครั้งในไตรมาส 2 ปี 2010 ซึ่งราคาหุ้นได้พุ่งจากประมาณ 6 บาท ไปประมาณ 11 บาท ใน 4 เดือน ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกหรือไม่ น่าติดตามมากครับ

2012-04-27 CK 5-year weekly chart "A new horizon has begun"
     ในกราฟรายสัปดาห์ระยะเวลา 5 ปี ผมสร้างช่องแนวโน้มราคาขาขึ้นของหุ้นโดยการลากเส้นสีเขียวทึบเชื่อมต่อจุดต่ำสุดของกราฟบริเวณที่ สัญญาณ RSI ย้อยลงแถว ๆ 20% ซึ่งเป็นสภาวะที่มีการขายหุ้นมากเกินไป เส้นนี้เกิดเป็นขอบล่างของช่องแนวโน้มราคาหุ้นครับ ต่อไปผมลากเส้นเขียวทึบอีกเส้นให้ขนานกับเส้นแรกให้ผ่านจุดสูงสุดของราคาหุ้นในกราฟช่วงไตรมาส 3 ปี 2010 เกิดเป็นเส้นขอบบนของช่องแนวโน้มราคาหุ้น จากนั้นผมแบ่งช่องแนวโน้มราคาหุ้นออกเป็น สามช่องย่อย ด้วยเส้นประสีเขียวสองเส้นซึ่งลากผ่านบริเวณจุดสูงสุดย่อยต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ในกราฟ เมื่อได้ช่องแนวโน้มราคาหุ้นดังกล่าวแล้ว ผมตรวจสอบความเป็นไปของหุ้น CK ภายในช่องแนวโน้มราคาที่ได้ ดังนี้ครับ เริ่มจากทางซ้ายของกราฟ ราคาหุ้นในปี 2008 ได้ปรับตัวลงอย่างรวดเร็วตามวิกฤติซับไพรม์โดยเริ่มดิ่งหนักเมื่อราคาหุ้นหลุดจากเส้นขอบบนของช่องแนวโน้มราคา ลงมาพักเล็กน้อยบริเวณกึ่งกลางช่องแนวโน้มราคา แล้วดิ่งต่อไปทำจุดต่ำสุดในกราฟที่ราคาประมาณ 2 บาท ตามด้วยการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วไปถึงเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 25 สัปดาห์ (สีเหลือง) แล้วฟื้นตัวไปถึงเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 50 สัปดาห์ และผ่านเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 75 สัปดาห์ การเคลื่อนผ่านเส้นค่าเฉลี่ยทั้งสามเส้นเกิดแถว ๆ ราคา 4 บาท (ราคาหุ้นรั้งรออยู่จนกว่าเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 75 สัปดาห์จะย้อยลงมาใกล้ราคาหุ้น) การรั้งรอของราคาหุ้นดังกล่าวทำให้ได้กราฟออกมาเป็นลักษณะ double bottom หรือตัวอักษร "พ" เล็ก ๆ ที่มีด้านบนของอักษรแตะอยู่ที่ เส้นประสีเขียวเส้นล่าง หลังจากที่ตัวอักษร "พ" ได้ฟอร์มตัวแล้ว พร้อมกันกับราคาหุ้นที่อยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ทั้งสามเส้น ทุกอย่างก็ครบถ้วน พร้อมด้วยเหตุปัจจัย ทำให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปที่เส้นประสีเขียวเส้นบนแถว ๆ 7.5 บาท เป็นการต่อหาง "พ" ให้เป็น "ฟ"  ขณะที่ได้ "ฟ" ออกมาจะสังเกตได้ว่า สัญญาณ RSI ได้ขึ้นมาแตะ 80% ซึ่งบ่งบอกว่ามีการซื้อหุ้น CK มากเกินไปแล้ว ทำให้ราคาหุ้นพักปรับฐานลงมา ในการปรับฐานครั้งนี้ ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ด้วยการฟอร์มตัวเป็นรูปตัว "พ" ซึ่งใหญ่กว่า "พ" ครั้งก่อนหน้าประมาณสองเท่า เมื่อ "พ" ตัวใหม่ครบสมบูรณ์พร้อมกับราคาหุ้นที่อยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ทั้งสามเส้น ราคาหุ้นได้พุ่งต่อหาง "พ" ให้เป็น "ฟ" ถึงระดับประมาณ 11 บาท พร้อมกันกับการที่สัญญาณ RSI ได้ขึ้นมาเกือบถึง 80% ซึ่งบ่งชี้ว่ามีการซื้อหุ้นมากเกินไปแล้วอีกครั้ง ราคาหุ้นจึงได้พักปรับฐานลงมา 
     เมื่อเราติดตามการฟื้นตัวของหุ้น CK มาถึงตรงนี้ หากมองรูปแบบกราฟภายในช่องแนวโน้มราคาหุ้นให้ดี จะมองเห็นลักษณะกราฟเป็นรูป "พ" ใหญ่ที่ครอบคลุมระยะเวลาจากกลางปี 2008 ไปจนถึงปลายปี 2010 แต่ตัว "พ" นี้ไม่สามารถต่อหางให้เป็น "ฟ" ได้ (ตามขนาดของ "พ" ดังกล่าว หางของ "ฟ" ที่ไม่เกิดขึ้นจริงนั้น น่าจะขึ้นไปได้ถึง 13 บาท) ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องด้วยปริมาณการซื้อขายระหว่างที่มีการต่อหางตัว "พ" ให้เป็น "ฟ" ที่สองไม่ได้มากไปกว่าปริมาณซื้อขายระหว่างการเกิด "ฟ" รอบแรกอย่างมีนัยสำคัญนั่นเอง กลับมาที่การพักฐานรอบปัจจุบันนะครับ หลังจากที่ราคาหุ้นขึ้นไปที่ 11 บาทแล้ว ได้ปรับตัวลงมาเรื่อย ๆ เป็นเวลา 1 ปี เต็ม ๆ ในระหว่างนี้ก็พยายามจะฝืนกลับขึ้นไปถึงสามครั้ง แต่ละครั้งไม่สามารถผ่านแนวโน้มขาลงออกไปได้ จนกระทั่งราคาหุ้นลงมาทำจุดต่ำสุดที่ประมาณ 6 บาท พร้อมกันกับการลดลงของสัญญาณ RSI มาที่ประมาณ 25% ณ จุดนี้ ได้สร้างช่องแนวโน้มราคาขาขึ้นของหุ้นให้ครบสมบูรณ์ หลังจากเกิดการขายมากเกินไปแล้วราคาหุ้นได้ฟื้นตัวกลับขึ้นไปยับยั้งอยู่ที่ราคา 8 บาท ซึ่งการฟื้นตัวครั้งนี้ ราคาหุ้นได้ผ่านออกจากแนวโน้มขาลงออกมาได้ หลังจากที่เคยไม่สำเร็จมาแล้วสามครั้ง เมื่อได้พักยับยั้งอยู่ที่ บริเวณ 8 บาทมากว่า 8 เดือน บัดนี้ ราคาหุ้นยืนอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ทั้งสามเส้นได้อีกครั้งหนึ่ง โดยที่ในขณะนี้ได้ยืนเหยียบเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 75 สัปดาห์พอดีครับ ตามรูปกราฟ จากนี้เป็นต้นไป ราคาหุ้นน่าจะทยอยไต่ระดับขึ้นไปจนกว่าจะชนเส้นขอบบนของช่องแนวโน้มราคาสีเขียวทึบ แถว ๆ 14 บาท ถ้าเรามองภาพใหญ่จะเห็นว่า การขึ้นไปแถว ๆ 14 บาทดังกล่าวจะทำให้เกิดการฟอร์มกราฟเป็นรูปตัว "พ" ใหญ่ตามเส้นประสีชมพู ซึ่งถ้าการฟอร์มรูปตัว "พ" ใหญ่ดังกล่าวเสร็จสิ้นพร้อมกับการเพิ่มขึ้นอย่างมากของปริมาณการซื้อขายหุ้น คือมากกว่าการเกิด "ฟ" เล็ก สองรอบที่ผ่านมามาก ๆ หากมีการสนับสนุนด้วยปริมาณซื้อขายจำนวนมากเพียงพอ ราคาหุ้นจะสามารถปรับขึ้นไปได้ตามความสูงของ "พ" ใหญ่ หรือ 8 บาท และหาง "ฟ" น่าจะสามารถไปได้ถึง 20 บาท แต่หากปริมาณการซื้อขายไม่สนับสนุน เมื่อจบรูป "พ" ใหญ่บริเวณ 14 บาทแล้วก็น่าจะหมดรอบครับ


UPDATE:


- วันที่ 13 กรกฎาคม 2012 รัฐมนตรีต่างประเทศของสปป.ลาวให้สัมภาษณ์ว่า ลาวได้เลื่อนการสร้างเขื่อนไซยะบุรีออกไปก่อน นับตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2011 เป็นครั้งแรกที่ทางการลาวออกมายอมรับการเลื่อนโครงการดังกล่าว ข่าวนี้ทำให้ฟ้าที่เริ่มเปิดของ ช. การช่าง มืดมัวลงอีกครั้ง ท่านที่มี CK อยู่ลองพิจารณาดูครับว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับข่าวนี้ http://www.reuters.com/article/2012/07/13/laos-dam-idUSL3E8ID2AN20120713


- วันที่ 7 พฤศจิกายน 2012 รัฐบาลลาววางศิลาฤกษ์เขื่อนไซยะบุรี และเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเคลียร์กับรัฐบาลเวียดนามและกัมพูชาที่อยู่ใต้น้ำลงไปได้แล้ว  http://www.thaipost.net/news/081112/64848



==============================

ผ่างบการเงิน ชำแหละพื้นฐานหุ้น ลงทุนถูกเวลา รักษาต้นทุน นำหนุนกระแสเงินสด

มูลค่าที่แท้จริงของหุ้น = มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ + เงินสด + มูลค่าปัจจุบันของ [ มูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่เพิ่มขึ้นและเงินปันผลรับระหว่างถือหุ้น 10 ปี ]

ค้นหา "ลงทุนหุ้นไทย"

หาเพื่อนนักลงทุนในกลุ่มสนทนา " ชำแหละพื้นฐานหุ้น"