มูลค่าที่แท้จริงของหุ้น = มูลค่าปัจจุบันของ (เงินสด + กำไรของผู้ถือหุ้นและเงินปันผลระหว่างถือหุ้น 10 ปี + เงินรับเมื่อขายกิจการทั้งหมด)
สูตรข้างบน มีองค์ประกอบดังนี้
1. เงินสดคือ เงินสดหรือสินทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินสดได้รวดเร็ว หาได้จากตอนท้ายของงบกระแสเงินสด
2. กำไรของผู้ถือหุ้นในอนาคต รายละเอียดมีกล่าวใน "SHAREHOLDER LETTERS" ปี 1986 ซึ่งวอร์เรน บัฟเฟตต์ เขียนถึงผู้ถือหุ้น [ http://www.berkshirehathaway.com/letters/1986.html ]
3. เงินปันผลรับในอนาคต
4. เงินรับเมื่อขายกิจการทั้งหมดออกไป มีกล่าวในหนังสือ นักลงทุนดันโด ของโมห์นิศ ปะไพร (Mohnish Pabrai) ซึ่งเป็นนักลงทุนที่นิยมชมชอบ วอร์เรนบัฟเฟตต์ ถึงขนาดยอมจ่าย หกแสนห้าหมื่นดอลล่าร์เพื่อให้ได้ทานมื้อเที่ยงกับบัฟเฟตต์สักครั้ง (รายได้มอบการกุศล)
ในสี่องค์ประกอบดังกล่าว ข้อ 2, 3 และ 4 จะได้มาจากการคาดการณ์อนาคตที่ยังมาไม่ถึง แล้วแต่สมมุติฐานที่นักลงทุนแต่ละคนใช้ โดยมีหลักว่า
- เราซื้อกิจการมา
- เป็นเจ้าของกิจการไปสักระยะหนึ่ง
- ขายกิจการออกไป
ดังนั้นสิ่งที่เราจะได้จากการเข้าลงทุนก็คือ
- สิ่งที่ได้มาในระหว่างเป็นเจ้าของกิจการ และ
- เงินรับเมื่อขายกิจการออกไป
ถ้าเป็นบัฟเฟตต์คำว่าสักระยะหนึ่งมักจะหมายถึงตลอดไป เพราะเขาซื้อกิจการแล้วไม่ชอบขาย ยกเว้นมันทำกำไรในปริมาณมหาศาลในเวลาที่รวดเร็วเกินไปเขาจึงจะขายออก ถ้าเป็นคนอื่นก็ตามใจชอบ สำหรับโมห์นิศ ปะไพร เขาใช้ค่า 10 ปี ส่วนผมใช้ตามโมห์นิศ ในระหว่างถือหุ้นอยู่ 10 ปี นั้น กิจการที่เลือกสรรมาดีแล้วจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก กำไรของผู้ถือหุ้นที่ทำได้ทุก ๆ ปี นอกจากนี้กิจการยังจ่ายเงินปันผลออกมาอย่างสม่ำเสมออีกด้วย เมื่อครบกำหนดลงทุน เราอยากขายกิจการให้คนอื่น ก็ต้องมากำหนดว่าจะขายที่ราคาเท่าไหร่ โดยทั่วไปนิยมซื้อขายกิจการกันที่ราคา 10-15 เท่าของกำไรของผู้ถือหุ้นที่กิจการทำได้ในปีที่ซื้อขายกิจการกันนั้นเอง (ผู้ขายอยากได้ราคาสูง ผู้ซื้ออยากได้ราคาต่ำ จึงมักจบลงในย่านดังกล่าว) เงินสามก้อนที่่ว่านี้ มันเป็นเงินในอนาคตซึ่งเกิดขึ้น ณ เวลาต่าง ๆ กัน ซึ่งเงินในอนาคตจะมีมูลค่าต่ำกว่าเงินในปัจจุบันนี้ เช่น เงิน 100 บาทวันนี้ จะมีมูลค่าเพียง 97 บาทในหนึ่งปีข้างหน้า ถ้าเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% ดังนั้นจึงต้องแปลงเงินทั้งสามก้อนนั้นให้เป็นมูลค่าในวันนี้ก่อน ค่อยเอามารวมกัน สำหรับเงินสดในข้อ 1 เป็นเงินสดจากงบการเงินล่าสุด จึงมีมูลค่าเป็นปัจจุบันอยู่แล้ว รวมสี่ส่วนเข้าด้วยกันจะเป็นมูลค่าของกิจการ ณ วันนี้
เนื่องจากเงินที่เกิดในอนาคตยิ่งห่างไกลจากปัจจุบันมากเท่าไหร่ จะแปลงกลับมาเป็นเงินในปัจจุบันได้มูลค่าน้อยลงเรื่อย ๆ ดังนั้น เงิน 100 บาท ใน 10 ปีข้างหน้า จึงมีมูลค่าแทบไม่แตกต่างจากเงิน 100 บาท ใน 20 ปีข้างหน้านัก การสมมุติว่า ถือหุ้นลงทุน 10 ปี จึงเพียงพอที่จะใช้แทนการถือหุ้นตลอดไปแบบที่บัฟเฟตต์ชอบทำ (ไม่เชื่อลองคำนวณดูได้ครับ) เพื่อไม่ให้เสียเวลามากเกินไป การคำนวณในทางปฏิบัติจึงสมมุติว่าจะลงทุนในกิจการนั้น 10 ปี และในปีที่สิบนั้นจะขายกิจการทั้งหมดออกไป ณ ราคา 10-15 เท่าของกำไรของผู้ถือหุ้นของปีที่ 10 เมื่อศึกษาอย่างรอบด้านจากหลายแหล่งข้อมูล มีจดหมายถึงผู้ถือหุ้นของบัฟเฟตต์และหนังสือนักลงทุนดันโดของโมห์นิศ ปะไพร เป็นเค้า ผมจึงประมวลสูตรการหามูลค่าที่แท้จริงได้ว่า
มูลค่าที่แท้จริงของหุ้น = มูลค่าปัจจุบันของ (เงินสด + กำไรของผู้ถือหุ้นและเงินปันผลระหว่างถือหุ้น 10 ปี + เงินรับเมื่อขายกิจการทั้งหมด)
ปัญหามีอยู่ว่า แล้วกำไรของผู้ถือหุ้นและเงินปันผลที่จะเกิดขึ้นในรอบสิบปีที่ลงทุนในกิจการจะคาดการณ์ได้ยังไง อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละคนครับ สำหรับบัฟเฟตต์ เขาคิดทุกอย่างในหัวสมองอัจฉริยะของเขา ส่วนโมห์นิศเขาใช้แนวลงทุนดันโดและเครื่องคิดเลข มีเขียนไว้ในหนังสือนักลงทุนดันโดว่า มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นเป็นสิ่งมีค่า เขาจะไม่บอกกันง่าย ๆ สำหรับผมดูจากแนวโน้มตัวเลขในงบการเงินแล้วคาดการณ์อนาคตด้วยหลักวิชาสถิติครับ การคาดการณ์กำไรของผู้ถือหุ้นและเงินปันผลในอนาคตไม่ว่าจะคิดออกมาด้วยวิธีใด ย่อมไม่สามารถหาได้อย่างแม่นยำ จึงเป็นเพียงแนวทางให้รู้ว่าราคาหุ้นถูกหรือแพงมากน้อยอย่างไร เท่านั้น สิ่งสำคัญคือ การเข้าลงทุนในภาวะวิกฤติอันเป็นสภาวะชั่วคราวที่ราคาหุ้นถูกเป็นพิเศษ เมื่อเวลานั้นมาถึง มูลค่ากิจการที่เราพอทราบเลา ๆ ก่อนเกิดวิกฤติจะเป็นตัวบ่งชี้ความน่าสนใจหรือความปลอดภัยในการลงทุนเป็นเจ้าของกิจการนั้น ๆ ครับ
===================================================
ผ่างบการเงิน ชำแหละพื้นฐานหุ้น ลงทุนถูกเวลา รักษาต้นทุน นำหนุนกระแสเงินสด
มูลค่าที่แท้จริงของหุ้น = มูลค่าปัจจุบันของ (เงินสด + กำไรของผู้ถือหุ้นและเงินปันผลระหว่างถือหุ้น 10 ปี + เงินรับเมื่อขายกิจการทั้งหมด)
ค้นหา "ลงทุนหุ้นไทย"
facebook.com/truestockvalue
twitter.com/thstockinvest
gplus.to/chamlaehoon
หาเพื่อนนักลงทุนในกลุ่มสนทนา " ชำแหละพื้นฐานหุ้น"