Thursday, July 4, 2013

มูลค่าที่แท้จริงของหุ้น หาอย่างไร ?

     การหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นนั้นไม่ต้องอาศัยใบปริญญาทางการเงินอะไรเลย เพียงแต่ต้องเข้าใจแนวคิดทางบัญชีและการทำธุรกิจขั้นพื้นฐานบ้าง เริ่มจากหัวใจการบัญชีตามสมการ

สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ

ส่วนของเจ้าของคือ ทุนที่เจ้าของธุรกิจนำมาลงในตอนแรก และหวังว่าจะเติบโตขึ้นไปแบบทวีคูณ เจ้าของธุรกิจได้รับผลตอบแทนจากกิจการ 3 ประการคือ ได้รับเงินเดือนค่าจ้างบริหาร (ซึ่งสำหรับกิจการแล้วส่วนนี้คือ หนี้สินที่ต้องจ่ายออกไปในระยะสั้น) ได้รับเงินปันผล และได้รับส่วนของเจ้าของที่เติบโตเพิ่มจากที่นำมาลงทุนในตอนแรก

ถ้าเราเป็นนักลงทุนที่ไม่ได้บริหารกิจการเอง แต่ไปซื้อกิจการมาในรูปของการซื้อหุ้นเราหวังได้อะไร แน่นอนเราไม่ได้เงินเดือน ดังนั้นเราจึงหวัง เงินปันผล และส่วนของเจ้าของที่จะเติบโตขึ้นไปแบบทวีคูณเหมือนเจ้าของกิจการเดิมนั่นเอง ดังนั้นการดูว่า หุ้นที่จะซื้อมีมูลค่าเท่าใด หัวใจจึงรวมศูนย์อยู่ที่ เงินปันผล และส่วนของเจ้าของ ซึ่งดูได้จาก งบการเงินของกิจการนั่นเอง

เวลาเราซื้อของ เราไม่ได้คิดถึงเฉพาะสิ่งที่จะได้รับจากของสิ่งนั้นแค่ในปัจจุบัน แต่เราคิดด้วยว่าของสิ่งนั้นจะใช้งานได้นานแค่ไหน และการให้เราใช้งานได้ในอนาคตนั้นก็รวมอยู่ในมูลค่าของเงินที่เราจะต้องจ่ายออกไปเพื่อซื้อของนั้นในปัจจุบันด้วย

หุ้นก็เช่นกัน เงินปันผล และส่วนของเจ้าของในอนาคตก็ต้องเอามาคิดรวมในมูลค่าหุ้นในวันนี้ด้วย แล้วในอนาคตที่ว่านี้ ควรยาวนานแค่ไหน โดยทั่วไปนิยมคิดเวลาในอนาคต 10 ปีพอ เนื่องจากหากคิดนานกว่านั้น ก็ไม่ได้ทำให้มูลค่าของหุ้นในปัจจุบันเพิ่มขึ้นสักเท่าไหร่ เพราะยิ่งนานไปในอนาคต มูลค่าของเงินยิ่งลดลงตามเวลา เพื่อใ้ห้ง่ายเลยตัดไว้ที่ 10 ปี ดังนั้นมูลค่ากิจการที่เราจะซื้อจึงมีสมการว่า
  
มูลค่ากิจการ = ส่วนของเจ้าของ + มูลค่าปัจจุบันของ [ส่วนของเจ้าของที่เพิ่มขึ้นและเงินปันผลที่ได้รับระหว่างเป็นเจ้าของกิจการ 10 ปี]


เพื่อนนักลงทุนอาจจะสงสัยว่า แล้วส่วนของเจ้าของและเงินปันผลในอนาคตนี่มันยังไม่เกิดขึ้นจริงเลย แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่ามันจะมีมูลค่าเท่าใด คำตอบคือไม่มีใครทราบความจริงว่ามันจะเป็นเท่าไร สิ่งที่ทำได้มากที่สุดคือการประเมินจากแนวโน้มการประกอบกิจการในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรายงานไว้ในงบการเงินของกิจการนั่นเอง ความแม่นยำในการประเมินนี้ เป็นศิลปะที่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ประจำตัวของผู้ประเมิน

ไม่ว่าจะประเมินสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร เมื่อได้มูลค่ากิจการแล้ว ถ้าหารด้วยจำนวนหุ้นของกิจการ ก็จะได้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นที่จะซื้อ ตามข้อมูลและการประเมินผลประกอบการในอนาคตจากงบการเงินในอดีต ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลต่าง ๆ ดังนี้ 

เปิดดูงบการเงินรวมของกิจการและบริษัทย่อย
  • ส่วนของเจ้าของ ดูจากงบดุล ซึ่งเขียนไว้ว่า ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) หรือจะหาจาก สินทรัพย์ (Asset) ลบด้วย หนี้สิน (Liability) ก็ได้ เพราะ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ มูลค่ากิจการในส่วนนี้เป็นมูลค่า ณ ปัจจุบัน
      
  • ส่วนของเจ้าของที่เพิ่มขึ้นระหว่างถือหุ้น 10 ปี หาจากการสมมุติว่าแต่ละปีในอนาคตที่ผ่านไปกิจการสามารถเพิ่มมูลค่าส่วนของเจ้าของได้ในปริมาณคงที่ หรือเพิ่มแบบเส้นตรง หรือเพิ่มแบบทวีคูณ มูลค่าส่วนของเจ้าของที่เพิ่มขึ้นมาในแต่ละปีนั้นจะถูกแปลงจากมูลค่าอนาคตกลับมาเป็นมูลค่า ณ ปัจจุบัน
      
  • มูลค่าเงินปันผลที่ได้รับระหว่างถือหุ้น 10 ปี หาจากการสมมุติว่าแต่ละปีในอนาคตที่ผ่านไปกิจการจ่ายเงินปันผลในปริมาณคงที่ หรือเพิ่มแบบเส้นตรง หรือเพิ่มแบบทวีคูณ มูลค่าเงินปันผลที่ได้รับมาในแต่ละปีนั้นจะถูกแปลงจากมูลค่าอนาคตกลับมาเป็นมูลค่า ณ ปัจจุบัน
เมื่อรวมมูลค่า ณ ปัจจุบันจากทั้งสามส่วนเข้าด้วยกันจะได้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้น ณ ปัจจุบัน ซึ่งจะตรงกับความเป็นจริงมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับการสมมุติในสองส่วนหลังระหว่างถือหุ้น 10 ปีนั้นว่าจะตรงกับความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด ตามปกติมูลค่าที่แท้จริงที่หาได้มักจะมีค่าต่ำเมื่อเทียบกับราคาหุ้นในตลาด ทั้งนี้เป็นเพราะหุ้นที่อยู่ในช่วงได้รับความนิยมจากนักลงทุน มักจะได้รับมูลค่าพิเศษ หรือพรีเมี่ยม (premium) เพิ่มขึ้นมาอีก ตามสมการ

ราคาหุ้น = มูลค่าที่แท้จริง + มูลค่าพรีเมี่ยม

ยิ่งเป็นหุ้นพิมพ์นิยมยิ่งได้รับค่าพรีเมี่ยมมาก จนบางครั้งมูลค่าพรีเมี่ยมจะพอ ๆ กัน หรือมากกว่ามูลค่าที่แท้จริงด้วยซ้ำ ในทางตรงกันข้าม ถ้าตลาดอยู่ในสภาวะย่ำแย่ ไม่มีใครต้องการซื้อหุ้นเพราะกลัวเข็ดขยาดจากการขาดทุน ตลาดจะให้พรีเมี่ยมที่เป็นลบกับหุ้น ทำให้ราคาตลาดมีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง จะเห็นได้ว่า เราไม่สามารถยึดถือมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นตามที่คำนวณได้ แต่จะต้องคำนึงด้วยว่า ขณะนั้นมูลค่าพรีเมี่ยมของหุ้นมีค่าเป็นบวกหรือลบมากน้อยเพียงใดซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะกำหนดเป็นตัวเลขออกมา

สำหรับหุ้นที่มีชื่อเสียงในตลาด มักจะมีนักวิเคราะห์หุ้นศึกษาราคาเป้าหมายสิ้นปี หรือ fair value เอาไว้แล้ว นักลงทุนที่ไม่อยากลงมือหามูลค่าที่แท้จริงด้วยตนเอง สามารถใช้ค่าที่นักวิเคราะห์ทำไว้เป็นแนวทาง แล้วเข้าซื้อลงทุนและขายออกทำกำไรตามระบบที่ตนเองถนัด โดยนำราคาเป้าหมายที่นักวิเคราะห์ทำเอาไว้มาร่วมพิจารณา สำหรับหุ้นที่คนไม่นิยม นักวิเคราะห์มักไม่ค่อยได้ศึกษา เพราะไม่มีคนอ่าน หุ้นเหล่านี้ยังไม่ดัง ยังไม่มีใครสนใจ ยังเป็นเพชรในตมอยู่ พวกวีไอที่ขยันก็จะลงมือหามูลค่าที่แท้จริงเองแล้วเข้าลงทุนก่อนที่ตลาดจะค้นพบหุ้นตัวนั้น จากสมการจะเห็นว่า ในขณะนั้น ค่าพรีเมี่ยมมักมีค่าเป็นศูนย์ หรือเป็นลบ ทำให้ราคาหุ้นใกล้เคียงหรือต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงที่คำนวณได้นั่นเองครับ ชอบและถนัดแนวไหนก็เลือกใช้กันตามความถนัด ไม่มีใครดีกว่าใครหรอกครับ เพราะคนที่พอร์ตระดับพันล้าน ก็มีทั้งที่เป็นวีไอ และที่ใช้เทคนิค อย่าเถียงกันไปเถียงกันมาว่าแนวของใครดีกว่าเลยครับ เสียเวลาเปล่า ๆ

ตัวอย่างภาคปฏิบัติ



Short URL = 
http://bit.ly/1cUHQ6z

ผ่างบการเงิน ชำแหละพื้นฐานหุ้น ลงทุนถูกเวลา รักษาต้นทุน เพิ่มพูนกระแสเงินสด

มูลค่ากิจการ = ส่วนของเจ้าของ + มูลค่าปัจจุบันของ [ส่วนของเจ้าของที่เพิ่มขึ้นและเงินปันผลที่ได้รับระหว่างเป็นเจ้าของกิจการ 10 ปี]

Search for "lazyinvestments.com" in Facebook and Google !