Sunday, September 30, 2012

กำไรของผู้ถือหุ้น กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และเงินลงทุนเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของกิจการ คืออะไร ?

     มีเพื่อนนักลงทุนถามผมมาว่า capital spending ที่ผมใช้ในการชำแหละหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น คืออะไร ? หาอย่างไร ผมคิดว่า เพื่อนอีกหลายท่านคงจะสงสัยเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เลยขอนำมาอธิบายให้หายสงสัยพร้อม ๆ กันดังนี้ครับ 
     ทุกท่านอาจเคยได้ยินสำนวนการลงทุนที่ว่า ในการประกอบธุรกิจนั้น "Cash is King." สำนวนนี้เปรียบเทียบว่า เงินสดมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด กิจการที่มีกำไรแต่เงินสดขาดมือ ก็มีสิทธิ์ล้มละลายเอาได้ง่าย ๆ ดังนั้นบริษัทใดประกอบกิจการแล้วมีกำไรและมีกระแสเงินสดไหลเข้ากิจการอย่างต่อเนื่องก็มีโอกาสมากที่กิจการนั้นกำลังอยู่ในภาวะเจริญรุ่งเรืองเหมาะในลงทุนเพื่อเข้าไปมีส่วนเป็นเจ้าของ แต่กิจการใดงบการเงินมีกำไรสุทธิทุกปี ขณะเดียวกันก็มีกระแสเงินสดไหลออกจากกิจการโดยตลอด เพื่อนนักลงทุนอาจจะกำลังถูกหลอกตบตาด้วยเทคนิคทางบัญชีให้เข้าใจว่ากิจการกำลังเจริญรุ่งเรือง แต่ความจริงกำลังจะเจ๊งก็เป็นได้ ดังนั้นจึงต้องดูทั้งกำไรสุทธิและกระแสเ้งินสดประกอบกันครับ ในงบการเงินของกิจการ (รวมทั้งบริษัทย่อย) ที่บริษัทจดทะเบียนต้องส่งให้ กลต. ทุกไตรมาสนั้น จะประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ได้แก่ 

  • งบดุล รายงานสถานะของกิจการด้านสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ ณ วันสิ้นงวดที่รายงาน 
  • งบกำไรขาดทุน รายงานเกี่ยวกับ รายได้ ค่าใช้จ่าย กำไร/ขาดทุน ที่กิจการทำได้ในงวดที่รายงาน
  • งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น รายงานเกี่ยวกับ การเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้น การเพิ่ม/ลดทุน การจ่ายเงินปันผล ที่เกิดขึ้นในงวดที่รายงาน
  • งบกระแสเงินสด รายงานเกี่ยวกับกระแสเงินสดที่ไหลเข้าิิสู่/ออกจากกิจการซึ่งเกิดขึ้นในงวดที่รายงาน จัดแบ่งเป็นประเด็นย่อยสี่ประเด็นคือ 
    • กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน       $$$
    • กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน @@@
    • กระแสเงินสดจากกิจกรรมการจัดหาเงิน 
    • ยอดเงินสดคงเหลือ ณ วันสิ้นงวดที่รายงาน
  • หมายเหตุประกอบงบการเงิน อธิบายรายละเอียดในประเด็นต่าง ๆ ที่ไม่อยากกล่าวในงบการเิงิน ให้รกหูรกตา ผู้ทำงบการเงินจะกำกับหมายเลขให้ไปดูรายละเอียดในหมายเหตุประกอบงบการเงินนี้แทน (ถ้าเป็นหนังสือ ส่วนนี้ก็เหมือนภาคผนวกนั่นเอง)

     เพื่อไม่ให้เทคนิคการบัญชีที่ถูกกฎหมายหลอกเอาได้ แทนที่จะดูแค่กำไรสุทธิ ผมมองผลประกอบการลึกลงไปอีกชั้นคือ ดูกำไรของผู้ถือหุ้นที่สร้างขึ้นได้ในแต่ละปี แทนที่จะดู { กำไรสุทธิ = รายได้ - ค่าใช้จ่าย } ก็ไปดู { กำไรของผู้ถือหุ้น = กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน - กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน } โดยที่กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน เป็นเงินสดที่ต้องจ่ายออกไปเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กิจการ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจอันจะนำมาซึ่งผลประกอบการที่ดีอย่างยั่งยืน ในส่วนนี้จะเอามาเฉพาะกระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุนซึ่งเกี่ยวกับ ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ และทรัพย์สินไม่มีตัวตน (ซอฟท์แวร์ สิทธิการเช่า สัมปทาน ใบอนุญาต แฟรนไชส์) ไม่รวมส่วนที่เป็นการลงทุนซื้อขายเพื่อการเก็งกำไร 
     บริษัทที่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไหลเข้ามาก แต่จำเป็นต้องจ่ายเงินสดจำนวนน้อยออกไปเพื่อลงทุนสร้างความสามารถในการแข่งขัน จะมีเงินสดพอกพูนอยู่ในกิจการมาก ทำให้มูลค่าความเป็นเจ้าของที่ผู้ถือหุ้นซื้อลงทุนเอาไว้เพิ่มพูนตามไปด้วย โดยสะท้อนออกมาเป็นราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น และเงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นได้รับ ดังนั้นการชำแหละหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการ แม้ว่าจะต้องลงลึกเข้าไปอีกชั้นเพื่อดูกำไรของผู้ถือหุ้นที่มาจากเงินสดที่เกิดจริง ๆ ในกิจการ แต่ก็คุ้มกว่าการดูแค่กำไรสุทธิ ดู PE ดู PBV ดู DE ที่อาจจะถูกหลอกได้ง่าย ๆ เพราะว่าในที่สุดแล้ว "Cash is King." ยังเป็นจริงมาตลอดตั้งแต่มนุษย์เริ่มใช้เงินสดเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนค้าขายจนถึงปัจจุบันและจะเป็นอย่างนี้ต่อไปในอนาคตครับ

===================================================
ผ่างบการเงิน ชำแหละพื้นฐานหุ้น ลงทุนถูกเวลา รักษาต้นทุน นำหนุนกระแสเงินสด

มูลค่าที่แท้จริงของหุ้น = มูลค่าปัจจุบันของ (เงินสด + กำไรของผู้ถือหุ้นและเงินปันผลระหว่างถือหุ้น 10 ปี + เงินรับเมื่อขายกิจการทั้งหมด)

พิมพ์คำว่า "ลงทุนหุ้นไทย" ในกูเกิล

 facebook.com/truestockvalue
 twitter.com/thstockinvest
 gplus.to/chamlaehoon
หาเพื่อนนักลงทุนในกลุ่มสนทนา " ชำแหละพื้นฐานหุ้น